ถึงตรงนี้คงชัดแล้วในคำตอบสุดท้าย ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินหน้าให้ความเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว หรือไม่ อย่างไร หลังจากมีประเด็นปัญหาจากกรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อ้างเหตุผล 4 ข้อคัดค้าน เข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้า นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ยืนหลักการสนับสนุน ร่วมกับทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องมาโดยตลอด ถึงขั้นนำรายละเอียดเหตุผลและความจำเป็น ต้องขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส แจ้งให้ครม.รับทราบ ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2563
เป็นความชัดเจนที่เกิดขึ้นภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้สีเขียว ว่า จะทำอย่างไรกับปัญหาที่ถูกภาคการเมืองสร้างขึ้น เริ่มจากการเน้นย้ำจุดยืนของรัฐบาล เรื่องการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ประเทศชาติ
พร้อมระบุไปถึงข้อทักท้วงต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งบังเอิญมาเกิดขึ้นในวันที่ครม.ต้องตัดสินใจ พิจารณาโครงการสำคัญ เพื่อการพัฒนาประเทศ ว่า “ใครที่วิพากษ์วิจารณ์ขอฝากให้ไปดูว่ารถไฟฟ้ามีกี่ช่วง มีช่วงที่ 1 ช่วงที่ 2 ช่วงที่ 3 และปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะทำ จะจ้างใคร งบประมาณของ กทม.มีหรือไม่ ที่ผ่านมาขาดทุนเพราะอะไร และระยะที่ 1 และ 2 ก็ไม่ได้เริ่มสมัยตน”
ไม่จบเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยซ้ำว่า ” วันนี้ต้องพิจารณารถไฟฟ้า ตลอดสายเพื่อให้ความเป็นธรรม เพื่อประชาชนได้ประโยชน์จากค่าโดยสารที่ถูกลง หากไปเปรียบเทียบกับสายอื่นก็เป็นคนละแบบ มันจะต้องดูหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดูความเป็นมา หลักการ และเหตุผล เพียงแต่เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือในครม เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยต้องไปทำข้อพิจารณาเพิ่มเติมขึ้นมา โดยการหารือร่วมกับหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงคมนาคม , กทม. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมปัญหาสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ หนี้ที่ค้างอยู่ จะทำอย่างไรในระยะที่ 1 เพราะวันนี้หากเดินต่อไปหนี้ก็จะครอบไปเรื่อยๆ แล้ววันข้างหน้าจะแก้ไขอย่างไร ให้ลองไปคิดดูแล้วกัน ก็ไปช่วยกัน ถ้าใครมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าให้เสนอเข้ามาเลย รัฐบาลจะนำไปพิจารณา แต่ถ้าไปพูดให้เสียหายก็แก้อะไรไม่ได้เหมือนเดิม รัฐบาลนี้ก็รับแก้ปัญหามาตลอด ก็ขอให้เห็นใจหน่อยก็แล้วกัน”
ทั้งหมดนี้คงไม่ต้องย้อนความ ว่า นักการเมืองคนไหน ที่กำลังทำตัวย้อนแย้ง สร้างปัญหา ในขณะที่ทุกคนในที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เข้าใจอยู่แล้ว ว่า “ระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว” เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ตามแผนโครงข่ายการขนส่ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะยังเป็นหัวหน้าคสช. ต้องการทำให้ระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการให้บริการประชาชน สามารถเดินทางสัญจร ได้อย่างสะดวกสบาย
จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้วยเหตุผลว่า เนื่องจากการบริการขนส่งสาธารณะ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีปัญหาทั้งเรื่องการบริหารจัดการโครงการ และการบริหารจัดการสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟฟ้า
ระบุถึงความจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน อํานวยความสะดวกสบาย การเดินทางของประชาชนผู้โดยสาร และมีการกําหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน เพื่อให้การเข้าถึงการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนเป็นไปอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบคมนาคมขนส่งและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ไม่เท่าความมุ่งมั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. ถึงขั้นสั่งการให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชน เพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) รวมทั้งอัตราค่าโดยสารเป็นไปอย่างเหมาะสม
แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ลืมรอบคอบ ให้โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เกิดความผิดพลาดในข้อกฎหมาย จึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง , ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , อัยการสูงสุด ช่วยกันทำหน้าที่ดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์ การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น เพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 รวมถึงดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ
เอาแค่ความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ เทียบกับข้ออ้างของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็ค้านทุกความรู้สึกแล้ว จากพฤติการณ์เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ในการใช้ตำแหน่งหน้าที่ รมว.คมนาคม นำข้อมูลของกรมขนส่งทางราง ที่เพิ่งทำเสร็จเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 หรือ ก่อนการประชุมครม.เพียงไม่กี่วัน มาใช้อ้างคัดค้านขั้นตอนการลงมติเห็นชอบ แผนขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามที่มีการหารือของทุกฝ่าย จนได้ข้อสรุปมาแล้ว
มากยิ่งไปกว่านั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรมว.คมนาคม และผู้บังคับบัญชา กรมขนส่งทางราง น่าจะรู้และมีข้อมูลเป็นอย่างดีว่า “รถไฟฟ้าบีทีเอส ” หลังจากเปิดให้บริการเที่ยวแรกเมื่อ 5 ธ.ค. 2542 ก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนผ่านไป 20 ปี “รถไฟฟ้าบีทีเอส” มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น 48 สถานี รวมระยะทางทั้งหมด 54.12 กม. และถ้าทยอยเปิดครบตามแผนว่าด้วยส่วนต่อขยาย หรือ จากสถานีเคหะฯ ไปตามเส้นทางสายสุขุมวิท จนถึงสถานีคูคต ซึ่งจะมีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16 ธ.ค. 2563 นี้
เท่ากับ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” จะมีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 59 สถานี รวมระยะทางมากถึง 68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี , กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พร้อมรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,500,000 เที่ยวคนต่อวัน
คำถามก็คือเมื่อทุกหน่วยงานได้พยายามกันอย่างเต็มที่ มีการประชุมหารือ มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ และ กระทรวงคมนาคม ในยุคของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็ร่วมพิจารณาโครงการนี้มาตั้งแต่กลางปี 2562 กลับทำไมปล่อยให้ทุกขั้นตอน ของการพิจารณาผ่านมาถึงกระบวนการสุดท้าย ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 จึงเริ่มต้นคัดค้านอย่างเป็นจริงเป็นจัง
ทบทวนสั้น ๆ อีกครั้งก็ได้ ว่า นายศักดิ์สยาม ย้อนแย้งในพฤติการณ์หรือไม่ อย่างไร เริ่มจากวันที่ 30 มิ.ย. 2563 นำเสนอเหตุผลและความจำเป็น ต้องขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส เข้าสู่ที่ประชุมครม.
ต่อมาวันที่ 13 ส.ค. 2563 ในการประชุมครม.มีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง รมว.การคลัง จึงมีการส่งเรื่องขอความเห็นเพิ่มเติม
จากนั้นเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ปรากฎว่ากระทรวงการคลัง ได้ยืนยันความเห็นเดิม ระบุด้วยซ้ำเช่นเดียวกับความเห็นของกระทรวงคมนาคม ที่เคยเสนอไปก่อนหน้า ในการสนับสนุนให้มีการขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อควบคุมค่าโดยสารตลอดทั้งเส้นทาง ให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 65 บาท
แต่กลายเป็นว่าในวันเดียวกันนั้น หรือ วันที่ 17 พ.ย. 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กลับอ้างเหตุ 4 ข้อ ของกรมขนส่งทางราง คัดค้านการขอความเห็นชอบ ผลการเจรจา และเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว
หรือ แปลความโดยตรง ก็คือ การกดดันให้กระทรวงมหาดไทย ถอนวาระการพิจารณานี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลมาชี้แจงข้อทักท้วงทั้ง 4 ข้อ ให้เสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ จากกำหนดเปิดใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมส่วนต่อขยาย อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ธ.ค. 2563
ไม่จบเท่านั้นเกมส์การเมือง เพื่อดีเลย์ขั้นตอนการลงมติเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว ของฟากฝั่งพรรคภูมิใจไทย ยังไปไกลถึงขั้นมอบหมายให้ นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ของพรรคภูมิใจไทย เชิญคณะกรรมการตามมาตรา 44 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ 4 ข้ออ้างที่ทางกระทรวงคมนาคม นำไปใช้เป็นเหตุผลคัดค้าน การขยายอายุสัมปทานบีทีเอส 30 ปี
วิธีการของพรรคภูมิใจไทย ต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางการเมือง อย่างที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวอ้าง หรือ มีเจตนาอื่นใดกับบริษัทเอกชน ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว อย่าง “บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” หรือไม่ วิญญูชนทั่วไปย่อมมองภาพจิ๊กซอร์ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นมิติเดียวกัน
เพราะต้องไม่ลืมว่า กรณีของ บีทีเอส ซึ่งถูกกระทรวงคมนาคม คัดค้านแผนขยายอายุสัมปทาน ในช่วงสุดท้ายของขั้นตอนการอนุมัติจากครม. ถึงนาทีนี้ยังต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุน ในหลาย ๆ ด้าน จากงบประมาณลงทุนโครงการส่วนต่อขยาย รวมถึงค่ารับจ้างบริการเดินรถไฟฟ้า โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
ทำให้จนถึงทุกวันนี้ กทม. มีมูลหนี้ติดค้างกับ บีทีเอส มากถึงกว่า 8,000 ล้านบาท แต่กระนั้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธาน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ยีนยันจะฝ่ายรับผิดชอบภาระทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารทุกคน
ยิ่งยวดที่สุด แผนการขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กำลังเผชิญหน้ากับปฏิบัติการขัดขวาง ไม่ใช่เป็นเหตุกรณีแรกที่ บีทีเอส ต้องเผชิญหน้า กับกระบวนการผลักดัน จากผู้รับผิดชอบกระทรวงคมนาคม อย่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่กรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม บีทีเอส ก็เคยถูกเกมส์ใต้ดิน บีบคั้นให้ต้องลุกขึ้นสู้ เพื่อความเป็นธรรม
เริ่มจาก วันที่ 17 ก.ย. 2563 บีทีเอส ยื่นหนังสือศาลปกครองกลาง ขอไต่สวนกรณี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีการปรับรื้อทีโออาร์ ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยการปรับเปลี่ยน เพิ่มเติม เกณฑ์นำข้อเสนอด้านเทคนิค มาพิจารณาควบคู่ เกณฑ์การตัดสินว่าด้วยราคาประมูล ทั้ง ๆ ที่มีการเปิดขายซองประมูลไปก่อนหน้า
แต่ภายหลัง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมิน โดยรวมคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคกับข้อเสนอด้านการเงิน และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงทีโออาร์
ต่อมาในวันที่ 20 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดี โดยให้ รฟม. กลับไปใช้หลักเกณฑ์ประมูล โดยการพิจารณาตามเงื่อนไขเดิมคือ เปิดซองคุณสมบัติ , ซองเทคนิค , ซองข้อเสนอการเงิน และซองข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติมจนกว่าจะมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น
ทั้งหมดนี้จะแปลความเป็นอื่นได้ยาก นอกจากจะต้องย้ำว่า บีทีเอส กำลังเผชิญหน้ากับ วิธีทางการเมืองแบบฉบับ พรรคภูมิใจไทย เนื่องด้วยเพราะ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รับรู้รับทราบ ข้อเท็จจริงว่าด้วย ความจำเป็นต้องขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้า บีทีเอส มาตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นที่มาของการนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมครม.เพื่อรับทราบ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 และยืนยันสนับสนุนมาโดยตลอด
จนกระทั่งถึงขั้นตอนต้องลงมติให้ความเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว ตามที่กระทรวงมหาดไทย สรุปข้อมูลความเห็นทุกฝ่าย ส่งที่ประชุมครม.ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 เพื่อให้ทันกับแผนการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16 ธ.ค. 2563 นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ถึงได้กลับลำความเห็นก่อนหน้า แล้วเล่นบทปกป้องผลประโยชน์ชาติ แบบย้อนแย้งสุดขั้ว
อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง ต้องยอมรับหัวใจผู้นำประเทศ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน มาตั้งแต่เข้ารับหน้าที่หัวหน้าคสช. และเดินหน้าแก้ปัญหาต่าง ๆ ภายใต้กรอบกฎหมาย โดยไม่ปล่อยภาคการเมืองใด ๆ เข้ามาชี้นำ จนทำให้แผนการพัฒนารถไฟฟ้าสีเขียว ที่เผชิญสารพัดปัญหา ในแต่ละยุคสมัยรัฐบาลอดีต สามารถเดินมาใกล้ถึงผลสำเร็จสำคัญ ว่าด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางผู้คน 3 จังหวัด ทั้ง ปทุมธานี , กรุงเทพมหานคร และ สมุทรปราการ รวมระยะทางมากถึง 68.25 กม. รองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,500,000 เที่ยวคนต่อวัน
ดังนั้นถึงแม้ว่าท้ายสุด โครงการรถไฟฟ้าสีเขียว จะต้องย้อนมาเจอวังวนการเมืองฉุดถ่วง ในช่วงโค้งสุดท้าย แต่จากคำพูดและวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ล่าสุด ภายใต้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เชื่อแน่ว่า ความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินหน้าเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ แผ่นดิน และกล้าลุยชนกลุ่มการเมือง ที่กำลังทำให้หลายคน เห็นธาตุแท้อีกครั้ง ว่า ผลประโยชน์การเมือง ยังเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ในการเลือกขั้วเป็นพรรคร่วมรัฐบาล !??