พปชร.แตกละเอียด! เปิดชื่อ 12 สส.กทม. แกะรอยใคร-กี่คน จะย้ายซบ “ภูมิใจไทย”?

1128

พปชร.แตกละเอียด! เปิดชื่อ 12 สส.กทม. แกะรอยใคร-กี่คน จะย้ายซบ “ภูมิใจไทย”?

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (2 มีนาคม 2565) นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง และ โฆษกพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า ผู้บริหารพรรคภูมิใจไทย มีการประชุมประเมินสถานการณ์ทางการเมือง โดยเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ สามารถทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชน และอธิบายการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบ โดยมีการมอบหมายให้ผู้บริหารพรรคภูมิใจไทย แต่ละท่าน รับผิดชอบพื้นที่เขตเลือกตั้ง และประสานงานกับบุคคลที่พรรคจะส่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละภาคแล้ว

ประกอบไปด้วย ภาคกลาง และภาคตะวันออก นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรค รับผิดชอบ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค และ นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นผู้รับผิดชอบ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้รับผิดชอบ ภาคเหนือ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รับผิดชอบ, ภาคใต้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบ ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน จะดูแลเองในช่วงนี้ แล้วจะพิจารณาหาผู้รับผิดชอบที่เหมาะสม เร็วๆ นี้ ซึ่งมีบุคคลเสนอตัวมาแล้วหลายราย

“ผู้บริหารพรรคภูมิใจไทย เชื่อมั่นว่า เวลาที่มีอยู่อีก 1 ปี ก่อนจะครบวาระของสภาฯชุดนี้ พรรคภูมิใจไทย มีเวลามากพอสมควรที่จะทำงาน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ สามารถนำพาประเทศไทยพ้นจากวิกฤติได้ ทั้งปัญหาด้านสุขภาพ โรคระบาด ปัญหาด้านรายได้ และ ปัญหาหนี้สิน” โฆษกพรรคภูมิใจไทย ระบุ

ส่วนพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ที่พรรคภูมิใจไทย จะส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงแข่งขันหรือไม่นั้น นายภราดร ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย จะส่งผู้สมัครอย่างแน่นอน เท่าที่ทราบขณะนี้ พรรคกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมาย โดยมีผู้ทำงานทางการเมืองในพื้นที่ กทม. ทั้ง อดีต ส.ส.กทม. และ ส.ส.กทม. พรรคร่วมรัฐบาล สนใจที่จะมาร่วมทำงานด้วย ติดต่อเข้ามาหารือกับหัวหน้าพรรค หลายรายแล้ว

เนื่องจากเห็นว่าพรรคภูมิใจไทย มีผลงานเชิงประจักษ์ ในการปกป้องผลประโยชน์ ให้คนกรุงเทพมหานคร เช่นการต่อสู้เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน กรณีการแปลงสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่งผลให้มีราคาค่าโดยสารสูงถึง 65 บาท การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพระราม 2 การปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ด้วยการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน เป็นระบบ รถเมล์ EV และการทำให้แอพพลิเคชั่น เรียกรถรับจ้างสถาธารณะ ถูกกฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเดอะทรูธได้ทำการตรวจสอบพบว่า หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พื้นที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวน 30 เขต พบว่า พลังประชารัฐ กวาดไป 12 เขต รองลงมา พรรคอนาคตใหม่ 9 เขต และพรรคเพื่อไทย 9 เขต ซึ่งเป็นไปได้ว่า ส.ส.กทม. พรรคร่วมรัฐบาล ที่นายภราดรพูดถึงนั้น หมายถึงส.ส.กทม.ในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะประกอบด้วย

เขต 1 น.ส. กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ พลังประชารัฐ
เขต 2 น.ส.พัชรินทร์ ซาศิริพงษ์ พลังประชารัฐ
เขต 4 นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา พลังประชารัฐ
เขต 6 น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ พลังประชารัฐ
เขต 7 น.ส.วธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ พลังประชารัฐ
เขต 8 นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ พลังประชารัฐ
เขต 9 นายสิระ เจนจาคะ พลังประชารัฐ (พ้นสภาพส.ส.แล้ว)
เขต 13 น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พลังประชารัฐ
เขต 15 นายชาญวิทย์ วิภูศิริ พลังประชารัฐ
เขต 17 นายศิริพงษ์ รัสมี พลังประชารัฐ
เขต 19 นายประสิทธิ์ มะหะหมัด พลังประชารัฐ
เขต 30 นายจักรพันธ์ พรนิมิตร พลังประชารัฐ