คลัง-สศช.ยันศ.ไตรมาส 3 ดีเกินคาด!?! ต่างชาติเชื่อมั่นเงินไหลเข้า 7.2 หมื่นล.ดอลลาร์ เตรียม 5 แผนดันเศรษฐกิจฟื้น

1764

อาคมชี้ตลาดหุ้นไทยเนื้อหอมได้ครองแชมป์อาเซียนดัชนียั่งยืนดาวโจนส์ ทำต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมของไทย นำเงินลงทุนกว่า 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สภาพัฒน์ดี๊ด๊า เศรษฐกิจไตรมาส3 ดีกว่าที่คาดพร้อมทั้งกสิกร-ซีไอเอ็มบีวิเคราะห์สอดคล้องกัน ฟันธง “เศรษฐกิจไทยฟื้น” เตรียมชงรัฐบาลมาตรการฟื้นเศรษฐกิจปี 2564 อีก 5 มาตรการ

คลังยันต่างชาติเชื่อมั่น-มีผลข้างเคียงดูแลได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ชี้ต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ส่งผลเงินบาทแข็งค่าขึ้น เปิดเผยว่าช่วงครึ่งเดือน เงินทุนไหลเข้าทะลัก”หุ้น-บอนด์” 7.2 หมื่นล้าน โดยเฉพาะตราสารหนี้อายุต่ำกว่า 1 ปียอดพุ่ง  4.6 หมื่นล้าน   สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่านั้น เป็นเพราะช่วงนี้ตลาดหุ้นของไทยดี ล่าสุดเพิ่มได้เข้าดัชนียั่งยืนดาวโจนส์ นับเป็นแชมป์อาเซียนก็ว่าได้ ส่วนหนึ่งเพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านไปด้วยดี และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นเรื่องเศรษฐกิจของไทยทำให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทย

“แม้เราจะมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ถึงเวลาเรื่องการนำสินค้าเข้า โดยเฉพาะเรื่องของโครงการรถไฟต่างๆ เรื่องขบวนรถไฟความเร็วสูงก็ยังใช้เวลาอีกหลายปี  แต่ที่ผ่านมาก็มีเพียงรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง ที่ตัวรถนำเข้ามา ก็จ่ายเงินดอลลาร์ออกไป เราคงต้องดูเงินกู้ครบเวลาชำระหรือไม่ ก็อาจจะช่วยผ่อนคลายได้บ้าง แต่การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศไม่ได้เบิกจ่ายทีเดียวทั้งก้อน เราต้องดู คงช่วยกันทั้งมาตรการเงินแบงก์ชาติและมาตรการทางการคลังของเราด้วย”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2563 ติดลบ 6.4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบถึง 12.1% รวมเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2563 ติดลบ 6.7% ปัจจัยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 3 เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ส่งผลให้กิจกรรมกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งปี 2563น่าจะดีขึ้นโดยติดลบแค่ 6% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 7.5%

“หากพิจารณาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปีนี้ทุกรายการ” “การส่งออกที่ดีขึ้นเป็นผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเป็นส่วนที่สำคัญในจีดีพีกว่า 60% และในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐเรายังส่งสินค้าไปได้มาก หากการส่งออกยังดีขึ้นเรื่อยๆจนถึงปีหน้าก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย แต่ในเรื่องนี้ก็ต้องระวังการแพร่ระบาดของคู่ค้าสำคัญๆของไทยที่จะกระทบกับการส่งออกได้”นายดนุชา กล่าว

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะกลับมาเป็นบวกโดยเติบโต 3.5-4.5% ด้วยแรงสนับสนุนจากปัจจัยดังนี้ (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (3) แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และ(4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว4.2% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.4% และ 6.6% ตามลำดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7-1.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของ GDP

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563และปี 2564 
(1) การป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองในประเทศ 
(2) การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว เร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การช่วยเหลือและดูแลแรงงาน การรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม และการดำเนินการด้านวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19
(3) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่า94.4% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% งบเหลื่อมปีให้ได้ไม่น้อยกว่า85% และการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทให้ได้ไม่น้อยกว่า 70%
(4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์
(5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริงขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ(6) การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง(7) การรักษาบรรยากาศทางการเมือง และ(8) การเตรียมรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

กสิกร-ซีไอเอ็มบีประสานเสียง “เศรษฐกิจฟื้น”
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรต้องปรับมุมมองเศรษฐกิจปีนี้เช่นกัน โดยอยู่ในกรอบติดลบ 7-8% จากเดิมคาดติดลบ 10% หลังมีมุมมองเศรษฐกิจดีขึ้นจากการลงทุนภาครัฐ การบริโภคเอกชน ที่กลับมาเติบโตได้ต่อเนื่อง จากโครงการรัฐ ดังนั้นน่าจะเป็นตัวหนุนให้ไตรมาส 4 กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยยังโอกาสเผชิญอีกหลายปัจจัยเสี่ยงระยะข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้หากจำเป็น แม้ในกรณีพื้นฐาน กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะการดูแลเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังเป็นโจทย์ท้าทายค่อนข้างมาก

ดังนั้นคาดว่า กนง.จะติดตามปัจจัยนี้ใกล้ชิด โดยหากเกิดสถานการณ์พลิกผันจนมีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็จะมีมากขึ้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวลดลงและมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องทิศทางเศรษฐกิจโลกที่แต่ละประเทศเริ่มหดตัวน้อยลง ซึ่งน่าจะหนุนการส่งออกไตรมาส 4 ปีนี้ให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ควรจับตาในหลายประเด็น คือ 

1.มาตรการกีดกันทางการค้าในปีหน้าด้วยว่าจะยังมีต่อเนื่องหรือไม่เพราะอาจทำให้การค้าโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาดได้ 2.เศรษฐกิจในประเทศ การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทนและภาคบริการจะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้หดตัวน้อยลงต่อเนื่องในไตรมาส 4 แต่เนื่องจากสินค้าคงทนฟื้นตัวช้าจึงยังส่งผลให้การจ้างงานไม่กลับมาเป็นปกติเร็ว กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังอ่อนแอทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวต่อถึงไตรมาส 1 ปีหน้า3.ห่วงเรื่องการระบาดรอบ 2 ในประเทศ ซึ่งหากควบคุมได้ดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง4.ขณะที่ภาครัฐอาจมีมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลการจ้างงานและเร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวในปีหน้า 5.มองว่ากำลังซื้อระดับล่าง โดยเฉพาะภาคเกษตรยังอ่อนแอในปีหน้าตามภาวะภัยแล้งที่มีต่อเนื่อง

“ซีไอเอ็มบีไทยอยู่ระหว่างการทบทวนจีดีพีดีขึ้น ซึ่งคาดว่าอยู่ในกรอบลบ 6-7 % จากเดิมที่ คาดติดลบ 7.5%”