รัสเซียออกหน้าเคียงข้างเมียนมา!?!มอบวัคซีนสปุตนิกฯสู้โควิด ยานเกราะรัสเซียกำหราบม็อบ จับตาสงครามไซเบอร์รัสเซียช่วยลุย

1981

สถานการณ์ตีงเครียดจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาลและกองทัพเมียนมา ขยายตัวในหลายเมือง ขณะที่ทางการเมียนมาก็ได้ยกระดับการกวาดจับแกนนำต่อต้านอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งตัดอินเตอร์เน็ตปิดช่องทางการเคลื่อนไหวปลุกระดม เผยแพร่ข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม สถานการณ์ความกดดันทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศต่อการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาครั้งนี้ มีพันธมิตรที่ให้กำลังใจและพร้อมหนุนช่วยที่ชัดเจนคือจีนและรัสเซีย ที่คอยปกป้องเมียนมาจากการก้าวก่ายแทรกแซงของฝ่ายตะวันตก รัสเซียไม่ลังเล สนับสนุนสู้โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ด้วย วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ และสนับสนุนด้านการข่าว การทหารด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ขณะจีนแสดงท่าทีกลางๆรักพี่เสียดายน้อง

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2564 สำนักข่าวเดอะ มอสโคว์ ไทม์ (The Moscow Times) รายงาน ว่า รัสเซียยังคงให้การสนับสนุนกองทัพเมียนมาอย่างเต็มที่ ขณะที่ เอกอัครราชทูตจีนในเมียนมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในเมียนมา หลังจากมีการประท้วงกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 จีนยืนยันจะรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรต่อเมียนมา ทั้งกับกองทัพ และรัฐบาลพลเรือนในอดีต 

สำนักข่าวนิเกอิ เอเชีย(Nikkei Asia) รายงานว่า พบรถหุ้มเกราะที่ผลิตในรัสเซียบนถนนในเมียนมาในช่วงเวลายึดอำนาจ ซึ่งบ่งชี้ว่า แม้เมียนมา พยายามจัดสัมพันธภาพกับต่างประเทศแบบถ่วงดุลทั้งกับจีน-รัสเซีย-อินเดีย แต่ความสนิทชิดเชื้อกับใครมากกว่า อาจดูได้จากสิ่งที่กองทัพเมียนมาเลือกใช้ 

นอกจากนี้ หนึ่งสัปดาห์ก่อนการยึดอำนาจ นายเซียร์เกย์ ชอยกูรมว.กห.รัสเซีย เยือนเมียนมา เพื่อหารือข้อตกลงการจัดหาระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ โดรนตรวจการณ์ และอุปกรณ์เรดาร์ ซึ่งมีรายงานว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.ทสส.เมียนมาเยือนรัสเซียถึง 6 ครั้งในรอบ 10 ปี และในห้วงเวลาที่กองทัพเมียนมาถูกกดดันในระดับนานาชาติสากล ผู้แทนรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council-UNHRC) ได้ยืนยันปกป้องเมียนมาอย่างเปิดเผยว่า การรัฐประหารเป็นกิจการภายในของรัฐอธิปไตยอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือในทางปฏิบัติแก่กองทัพเมียนมา เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งรวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองในเมียนมา

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2564 สำนักข่าวทาซ (Tass) สื่อรัสเซียรายงานอ้างอิงจากคำแถลงผ่านทางทวิตเตอร์ของสปุตนิก ไฟว์ พบว่าเมียนมาในเวลานี้กลายเป็นชาติที่ 21 ของโลกที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนสปุตนิก ไฟว์ของรัสเซียสำหรับการใช้ฉุกเฉินในประเทศ

กองทุนการลงทุนโดยตรงรัสเซีย RDIF (Russian Direct Investment Fund) แถลงต่อนักข่าวว่า การขอขึ้นทะเบียนใช้วัคซีนเป็นไปเพื่อกระบวนการอนุญาตเพื่อการใช้ฉุกเฉิน ซึ่งไม่จำเป็นต้องการศึกษาเพิ่มเติมทางคลินิกวิทยาภายในประเทศเมียนมา

คิริล ดมิเตรียฟ (Kirill Dmitriev) ซีอีโอของ RDIF กล่าวว่า “เมียนมากลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำการอนุญาตอย่างเป็นทางการเพื่อการใช้สปุตนิก ไฟว์ ที่เป็นหนึ่งในวัคซีนโควิด-19 ของโลกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีความปลอดภัยสูงสุด จำนวนประเทศในภูมิภาคที่จดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากการที่เราเห็นความต้องการอย่างสูงต่อวัคซีนและทางเราพร้อมที่จะช่วยเหลือพันธมิตรของเราในการปกป้องสุขภาพของประชาชน” 

Tass รายงานว่าล็อตแรกของวัคซีนสปุตนิก ไฟว์ ถูกส่งเข้าพม่ามาตั้งแต่เดือนม.ค.2564 สำหรับการขออนุญาตเพื่อใช้ฉุกเฉิน โดยสำหรับประสิทธิภาพวัคซีน วารสารทางการแพทย์ชื่อดังของอังกฤษรายงานวันอังคาร (2 ก.พ.2564) ว่า สปุตนิก ไฟว์ มีประสิทธิภาพประมาณ 91.2%

ขณะเดียวกัน ปัญหาสถานการณ์ภายในพม่ายังไม่จบ ยังคงมีการเดินขบวน ประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพ และรัฐบาลเฉพาะกาลจำนวนมากและรัสเซียได้ปรากฏตัวขึ้นมา  ในฐานะเป็นพันธมิตรรายใหญ่ของเมียนมาไม่น้อยหน้าจีน ทั้งด้านการเมือง สาธารณสุขและการทหาร

ล่าสุดรัสเซียได้เปิดศูนย์ให้บริการระหว่างประเทศแห่งหนึ่งขึ้นในเมียนมา เรื่องนี้นายอเล็กซานเดอร์ ฟอมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียบอกกับสื่อมวลชนเมื่อเดือนม.ค.2564ว่า พม่านั้นได้แสดง “บทบาทอันสำคัญในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคแถบนี้อย่างมีนัยสำคัญ”

เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้อยู่แล้วว่า รัสเซีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างเอกอุในเรื่องการต่อสู้ตอบโต้กับการปฏิวัติสี โมเดลฮ่องกง-ไทย-พม่า จะต้องมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองกับฝ่ายทหารพม่า ปัจจุบันมีนายทหารจากพม่ามากกว่า 600 คนกำลังศึกษาอยู่ตามสถาบันทางการทหารแห่งต่างๆ ของรัสเซีย 

สื่อมวลชนของรัสเซียได้อ้างอิงคำพูดของ มิน อ่อง หล่ายได้พูดเอาไว้ว่า “เหมือนกับเพื่อนมิตรผู้ซื่อสัตย์ รัสเซียได้สนับสนุนพม่าเสมอมาในยามที่เกิดความยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 4 ปีหลังมานี้” นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามกันในข้อตกลงฉบับหนึ่งที่รัสเซียจะจัดส่งระบบจรวดและปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศแบบปานซีร์-เอส 1 (Pantsir-S1 missile and artillery air defense systems) ให้แก่พม่า

ในช่วงหลังนี้ บทบาทของรัสเซียในพม่าเพิ่มขึ้นด้วยโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับพม่ามากเป็นอันดับต้นๆ ร่วมกับจีนและเกาหลีเหนือ ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียในปัจจุบันยิ่งเข้มแข็งขึ้น พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า เพิ่งเดินทางไปเยือนรัสเซียเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเข้าร่วมการเฉลิมฉลองชัยชนะของรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีนี้ รัสเซียเชิญประธานาธิบดีจากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับตน 10 ประเทศ และยังเชิญผู้บัญชาการทหารระดับสูงในอีกหลายปะเทศ ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายเดินทางไปเยือนรัสเซียถึง 6 ครั้งตั้งแต่ปี 2003 เป็นประเทศที่เขาเดินทางไปเยือนบ่อยที่สุด

สำหรับรัสเซีย เมื่อพิจารณาถึงภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค  ที่ตั้งของพม่าที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจีนและอินเดีย ยังเป็นเสมือนประตูสู่มหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอล ทำให้รัสเซียมองเห็นศักยภาพด้านการลงทุนกับพม่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติท่ามกลางความขัดแย้งภายในพม่าที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองทัพอาระกัน (Arakan Army) และในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยอื่นๆ พม่าต้องการอาวุธมากขึ้นทุกปี

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียจะไม่ได้หวือหวาและเป็นที่น่าจับตามมองเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับจีน สหรัฐอเมริกา หรือกับอินเดีย แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า รัสเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่เคยมีข้อพิพาทใดๆ กับพม่า และยืนยันจะเป็นมิตรที่ดีกับพม่า ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน