หยุดเอื้อเอกชน-ทอท.ไม่ใช่บริษัทส่วนตัวใคร ?!!? ปมสัญญาคิงเพาเวอร์ ทำทอท.โดนคลังเรียกแจง ขณะหุ้นรูด คาดกระทบรายได้ 2.5 แสนล้าน ขาดทุนใครรับผิดชอบ?!

1854

สองสามวันมานี้ โบรกเกอร์พร้อมใจกัน ถล่มหุ้น AOT ดิ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  เหตุแก้สัญญาสัมปทานให้ส่วนลดผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) แก่คิง เพาเวอร์ เพิ่มระยะเวลาออกไป โดยไม่ขอมติผู้ถือหุ้น มอร์แกนสแตนลีย์เผย ผลสัญญาทำ ทอท.เสียรายได้ต่อเนื่อง หวั่นผลกระทบสูง 2.5 แสนล้านบาท กดราคาหุ้นดิ่งต่อเนื่อง ล่าสุด สศร.เรียกชี้แจงเหตุเอื้อเอกชน

เกิดอะไรขึ้นที่ AOT-จากหุ้นเนื้อหอม กลายเป็นหุ้นโดนเท

จากข้อมูลงบการเงินที่ AOT รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าปี 2561-2562 มีรายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีกำไรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ขึ้นแท่นหุ้นที่เนื้อหอมที่สุด

และเมื่อปิดดีลประมูลดิวตี้ฟรี โดยที่เอกชนรายเดิมอย่าง ‘คิง เพาเวอร์’ เสนอผลตอบแทนสูงเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนก็ยิ่งสนใจมากยิ่งขึ้น จนราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์รายได้ล่วงหน้า ซึ่งคิง เพาเวอร์การันตีรายได้ขั้นต่ำปีแรกถึงกว่า 2.3 หมื่นล้านบาทจากสัญญาสัมปทานร้านปลอดภาษีและสิทธิบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ด้วย

โรคโควิด-19 เป็นวิกฤติระบาดใหญ่ที่ส่งกระทบไปทั้งโลก  ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เคยเป็นรายได้หลักทำเงินสูง อาจสูญราว 1.3 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปนับล้าน ผู้โดยสารต่างชาติเดินทางอาจหดตัววันละ 1.5 แสนคน อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่ออยู่มาวันหนึ่งปรากฎข่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) แจงตลาดหลักทรัพย์แก้สัญญาสัมปทานเรื่องผลตอบแทนขั้นต่ำ และยืดเวลาสัญญาเพิ่มไปอีก 1 ปีจากของเก่า ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องระยะยาว

เดิมวันที่ 4 ก.ค.62 ทอท.ได้ลงนาม กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ในสัญญาให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการ จำนวน 3 สัญญา โดยแต่ละสัญญา มีอายุ 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. 63 ถึง 31 มี.ค.74 โดยมีวงเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) รวมกันปีแรกที่มีมูลค่ารวม 23,548 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญาดิวตี้ฟรี ที่สุวรรณภูมิ วงเงินผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก15,419 ล้านบาท , สัญญาดิวตี้ฟรี ภูเก็ต,หาดใหญ่, เชียงใหม่ วงเงินผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 2,331 ล้านบาท และ สัญญาเชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิ วงเงินผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 5,798 ล้านบาท

ต่อมา เมื่อ 17 มิ.ย.ทอท. มีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาในการปรับปรุง ตกแต่งพื้นที่ และการประกอบกิจการของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ,ท่าอากาศยานภูเก็ต,ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ,ท่าอากาศยานหาดใหญ่ให้กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ( KPD) และขยายระยะเวลาในการปรับปรุง ตกแต่งพื้นที่ และการประกอบกิจการของสัญญาอนุญาตให้ประกอบการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

โดยทั้ง 3 สัญญา ได้แก่ 1.สัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ 2. สัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินภูเก็ต,เชียงใหม่,หาดใหญ่ และ 3. สัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีการขยายเวลาของขั้นตอนการการปรับปรุง ตกแต่งพื้นที่ ที่กำหนดไว้เดิมในระยะที่ 1 ออกไปอีก 1 ปี เป็นตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.63- วันที่ 31 มี.ค.65 และเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดการประกอบการที่กำหนดไว้ในระยะที่ 2 เป็นเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65- 31 มี.ค.75

ในส่วนสนามบินสุวรรณภูมินั้น หาก ทอท.เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4 ) อย่างเป็นทางการเมื่อใด ทางคิงเพาเวอร์จะต้องจัดให้มีร้านค้าให้บริการผู้โดยสารอีกด้วย

AOT-ผู้ถือหุ้น-กระทรวงการคลัง สงสัยอำนาจในการอนุมัติของบอร์ดเอื้อเอกชน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สศร.) กล่าวถึง การที่ทอท.แก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีโดยการเปลี่ยนวิธีการเก็บเงินการันตีขั้นต่ำ จาก KPD- บริษีท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีผลต่อการส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง และจะให้ทอท.เช้าชี้แจงว่าเป็นอำนาจของบอร์ดหรือผู้ถือหุ้น  ถึงแม้ทอท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีอิสระในการดำเนินนโยบาย มากกว่ารัฐวิสาหกิจอื่น แต่ก็จำเป็นต้องเชิญมาชี้แจงเหตุผล เพราะต้องดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม

AOT ที่จัดแพ็คเกจช่วยเหลือเอกชนมากขนาดนี้ ซึ่งรายได้ที่หายไปของ AOT ก็คือรายได้ที่จะถูกจัดเก็บเป็นรายได้ของแผ่นดิน นั่นคือการนำเงินส่วนรวมไปช่วยเหลือคนบางกลุ่มที่เดือดร้อนหรือไม่?

ระดับรายได้ของภาคเอกชนที่มีสัมปทานและส่งมอบรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์นั้นมีนัยสำคัญอย่างมากกับรายได้ของ AOT และธุรกิจที่ครองอาณาจักรจนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของสนามบินประเทศไทยที่ทุกคนนึกถึงคือ คิง เพาเวอร์ ซึ่งได้รับสัมปทานแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารจัดการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินตลอดช่วงที่ผ่านมา และยังชนะประมูลดีลสนามบินสุวรรณภูมิและอีก 3 สนามบินสำคัญต่อเนื่องไปอีก 10 ปี 6 เดือน พร้อมๆ กับสิทธิการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ล่าสุด คิง เพาเวอร์ ยังคว้าสิทธิบริหารเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอาการสนามบินสุวรรณภูมิอีก 10 ปีแบบไม่เหนือความคาดหมายด้วย 

เรื่องนี้ ทอท.ต้องเคลียร์?!!?