กรมเจรจาฯฟุ้งคู่ค้าFTA อยากได้ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว เผย นำไทยครองแชมป์โลก?!? แจงค้าเสรีได้ประโยชน์ขณะปชช.ห่วงสัญญายังไร้สรุปผลดี-ผลเสีย???

1900

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทย มีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในประเทศ  และช่วยผลักดันไทยรักษาแชมป์ประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว มูลค่าส่งออก 6 เดือนแรก โตร้อยละ 9.5 อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกหลัก ขณะที่ตลาด ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน มาแรง เป็นข้อยืนยันว่า การค้าเสรี-FTA ไทยได้ประโยชน์ แต่ภาคประชาสังคมยังกังวลต่อข้อสัญญาการค้าประเภทอื่น ที่ยังไม่มีคำตอบผลดีผลเสียอย่างชัดเจน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์จากข้าว อาทิ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมถึงขนมขบเคี้ยว นับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่น่าจับตามอง เพราะมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ผู้ประกอบการมีความพร้อมมีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปสินค้า นอกจากนี้ ความต้องการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรและความต้องการอาหารในชีวิตประจำวัน ประกอบกับกระแสรักสุขภาพทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมานิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช

ในปี 2562 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวปริมาณกว่า 2.27 แสนตัน มูลค่า 338 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเติบโตกว่าร้อยละ 187 เมื่อเทียบกับก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ มูลค่า 217 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้ มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอยังเติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจ เช่น อาเซียน ขยายตัวถึงร้อยละ 210 จีน ขยายตัวร้อยละ 1,862 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 148 นิวซีแลนด์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 304 เป็นต้น

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – มิ.ย.) พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยมีปริมาณถึง 1.12 แสนตัน มูลค่า 176 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 แบ่งเป็นการส่งออกแป้งข้าวเหนียว มูลค่า 58 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22 เส้นก๋วยเตี๋ยว มูลค่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11 และขนมขบเคี้ยว มูลค่า 61 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับที่ 1 ของไทย มูลค่า 57 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10 (มาเลเซีย เป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน มูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 32) ตามด้วย สหรัฐอเมริกา มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5 จีน มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17 ญี่ปุ่น มูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 36 และ ออสเตรเลีย มูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 33 ทำให้ปัจจุบันไทยยังครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวอันดับที่ 1 ของโลก

ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งสร้างความได้เปรียบด้านราคา ทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้วในประเทศคู่เอฟทีเอ 14 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และ ฮ่องกง 

ส่วนประเทศคู่เอฟทีเออีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้ลดและเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยแล้วบางส่วน และคงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการ เช่น จีน เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า ร้อยละ 5-40 ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าวเจ้า ร้อยละ 25 อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าแป้งข้าว และเส้นหมี่จากข้าว ร้อยละ 30 เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวด้วยข่าวดีข้างต้นอาจช่วยยืนยันแนวคิดของภาครัฐที่จะเดินหน้าพัฒนาการเจรจาการค้าเสรี-FTA ต่อไป ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ไทยได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีมากว่า 20 ปี ทางกรมการค้าแจงว่าไทยใช้ประโยชน์ 52.5 % เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตต่อ ส่วนการส่งออกเป็นรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและผลไม้สด จึงเห็นว่าจำเป้นต้องขยายข้อตกลงทางการค้าให้ครอบคลุมตลาดการค้าเป้าหมาย และสอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการค้าโลก หลังโควิด-19

กรมการค้าแจงว่า ในด้านการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่ประเทศผู้ต้องการมาลงทุนจะพิจารณาว่า ไทยให้การสนับสนุนธุรกิจผ่านข้อตกลงการค้า FTA อย่างไรบ้าง มีศักยภาพในการเป็นห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างไร (Global Value Chain:GVCs) ทั้งในกรณีสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์วิกฤติ

“เอฟทีเอก็สำคัญ แต่จะเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าไหนยิ่งสำคัญกว่า” อรมนกล่าว

ข้อพิจารณาอีกด้านหนึ่งคือผลกระทบด้านลบกรมการค้ามิได้ขยายความ และยังคงต้องเดินหน้าขยายข้อตกลงเอฟทีเอ กับประเทศเป้าหมายที่ใกล้จะสำเร็จ เช่น ตุรกี, อียู, ปากีสถาน, ศรีลังกา ต่อไป

การเจรจาการค้าย่อมมีทั้งส่วนได้และส่วนเสีย แต่ความกังวลของภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ และอาชีพของประชาชนคนเล็กๆ ยกตัวอย่างข้อกังวลเกี่ยวกับการผูกมัดอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ กรณีสิทธิบัตรยา เช่น

-พันธะกรณีเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับ “ยา” เช่นการเชือมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำหรับยา (Patent Linkage) การให้สิทธิแก่สมาชิกใช้สิทธิเหนือสิทธิบีตรยา (CL) การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension) การผูกขาดข้อมูลข้อทดสอบยา (Data Exclusive)

แค่ประเด็นเดียวก็ยากที่จะชี้แจงให้ชัดเจนลงไปได้ ว่าทำสัญญาแล้วดีมากกว่าเสียอย่างไร  กระแสการคัดค้านด้าน CPTPP และอนุสัญญา UPOV จึงยังมีอยู่ หากปรากฎกระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาว่า ทางภาครัฐมีความเคลื่อนไหว ก็จะเป็นที่จับจ้องของภาคประชาสังคม และมีความเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างกว้างขวางเสมอ