บิ๊กป้อม ขอให้ปกป้อง รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ย้ำทส.น้อมนำพระราชดำริ ในหลวงร.9-พระพันปีหลวง แก้ปัญหาน้ำ ป่าไม้ ที่ทำกิน

2083

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมมอบนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกลไปยัง 106 หน่วยงาน 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวง ต้อนรับ

พล.อ.ประวิตร กล่าวขอขอบคุณบุคลากรทุกภาคส่วน ที่ได้ปฏิบัติงานในการสนองตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนเป็นอย่างดี พร้อมมอบนโยบายปี 2564

1. การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ทรงปกครองประชาชนและแผ่นดินไทยให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ดังนั้นอยากให้ร่วมกันปกป้อง รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และเน้นย้ำให้ ทส. น้อมนำพระราชดำริ ของรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จฯพระพันปีหลวงเป็นหลักนำทางในการแก้ปัญหา น้ำ ป่าไม้ และที่ดินทำกิน อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พร้อมกำชับให้กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมควบคุมมลพิษ ต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อย่างเต็มที่ และจริงจังด้วย

​2. การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการสำรวจและจัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานให้มีความเพียงพอ มีการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้สูงขึ้น ทั้งด้านองค์ความรู้และสมรรถภาพร่างกาย อีกทั้งยังเน้นย้ำให้สร้างความร่วมมือกับพลังประชาชน เอกชน รวมถึงท้องถิ่น “เพื่อร่วมขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

​3. ต้องขับเคลื่อนงานเดิม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างสุขให้คนไทย

1) เรื่องการจัดที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ในลักษณะแปลงรวมแก่ราษฎรผู้ยากไร้ หรือไร้ที่ดินทำกิน ภายใต้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ขอให้เร่งรัดการสำรวจพื้นที่การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ รวมถึงการสร้างสาธารณูปโภคและพัฒนาอาชีพควบคู่ไปด้วย และดำเนินการฟื้นฟู พัฒนาป่าชุมชน ให้มีศักยภาพเพื่อเป็นแหล่งการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ของชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของราษฎรเพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือน

2) เรื่องการปลูกป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.

3) เรื่องการดำเนินงานด้านทรัพยากรน้ำ ขอให้บูรณาการทั้งน้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และเพื่อบริการการท่องเที่ยว

4) เรื่องการเร่งรัดการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อเกษตรแปลงใหญ่ การจัดตั้งจุดจ่ายน้ำบาดาลในเส้นทางคมนาคมหลัก และต้องมีการเติมน้ำใต้ดินเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด

5) การแก้ปัญหาคุณภาพอากาศ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ต้องมีการวางมาตรการและวิธีปฏิบัติในการป้องกันและลดผลกระทบ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง

6) การแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า (ช้างและลิง) ออกจากป่ามารบกวนราษฎรในบริเวณใกล้ป่า รวมถึงการดูแล และอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก ปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล

​4. การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เพื่อลดผลกระทบ การสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยในเรื่องปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ต้องทำความเข้าใจแก่ราษฎร ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วม

อีกทั้ง ให้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อผนึกกำลังทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ส่วนท้องถิ่น และประชาชน ในการเฝ้าระวัง ป้องกันการเกิดไฟป่า มีการปฏิบัติงานเพื่อการดับไฟเมื่อเกิดไฟป่า และมีการฟื้นฟูหลังการเกิดไฟป่า
ทั้งนี้ ต้องมีการเตรียมพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ และยุทธปัจจัยอื่น ๆ ที่เพียงพอต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงาน

สำหรับเรื่องปัญหาน้ำท่วม กระทรวงต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการกำหนดเป้าหมายการช่วยเหลือ ปละประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมทั้งยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือการอพยพของประชาชน การสูบน้ำ การสร้างพนังกั้นน้ำ รวมถึงแจกจ่ายน้ำดื่ม และอาหารเพื่อการยังชีพ ด้านปัญหาภัยแล้ง กระทรวงฯ มีความสำคัญในการหาน้ำต้นทุน ทั้งแหล่งน้ำผิวดินธรรมชาติ และ น้ำบาดาล ต้องประสานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดเป้าหมายกรช่วยเหลือ โดยเฉพาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ และการจัดตั้งจุดจ่ายน้ำเพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ที่เพียงพอ

​5. กระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่น ในการสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชน ชุมชน อันจะส่งผลถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น อยากให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการดำเนินงานในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ

1) การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อยากให้มีการจ้างงาน สำหรับผู้ตกงานหรือ ผู้จบการศึกษาใหม่ เพื่อปฏิบัติงานด้านการป้องกันและดับไฟป่า การปลูกป่า รวมถึงการสร้างแหล่งอาหารและแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า และอื่น ๆ

2) การกระตุ้นระยะกลาง โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของกระทรวงฯ ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ป่าไม้เพื่อนันทนาการ พื้นที่ทะเลและชายหาด สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ โดยต้องปรับปรุงให้มีความพร้อม กำหนดมาตรการการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New normal)

รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิญชวนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งนี้ ควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่รอบแหล่งท่องเที่ยว ทั้งที่พัก และร้านอาหาร ร้านค้าชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ราษฎรในพื้นที่ด้วย

3) การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งเสริมการปลูกไม้ทีค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากป่าปลูก ซึ่งในปัจจุบันและอนาคต ความต้องการผลิตภัณฑ์จากไม้ ไม้แปรรูป และไม้เพื่อพลังงาน มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าในที่ดินเอกสารสิทธิ รวมถึงที่ดินราษฎรได้รับการอนุญาตจากรัฐ และต้องมีการดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานด้านป่าไม้เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานการส่งออกของโลก

6. ขอกำชับฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ เร่งรัดดำเนินการ ติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และรายงานผลให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ขอให้กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมควบคุมมลพิษ สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติอย่างเต็มที่