รวยแค่ไหนเรื่องของคุณ-ที่สำคัญคือไม่เอาเปรียบใคร!?! สื่อนอกยกตระกูลเจียรวนนท์ ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีโลกอันดับ 21 ขณะในไทยถูกกมธ.สภาฯสอบปมผูกขาดค้าปลีก?!?

2294

สำนักข่าวบลูมเบิร์กยก ตระกูล’เจียรวนนท์’ ขึ้นแท่น ‘มหาเศรษฐีโลก’ อันดับที่ 21 ทรัพย์สินเฉียด 1 ล้านล้าน สยายปีกไป 22 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ในไทยกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบกรณีผูกขาดการค้าปลีก ลุ้นผลสอบกระทบธุรกิจหรือไม่อยู่ที่สังคมไทยตัดสิน

เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ปี 2020 ในสถาการณ์การแพร่ระบาดของโรคไว้รัสโควิด-19 ที่กระทบต่อหลายธุรกิจทั่วโลก หลายตระกูลมหาเศรษฐีทั่วโลก ต้องมีการปรับตัวกับสถานการณ์ ที่กระทบการลงทุนใหม่ กระทบต่อธุรกิจในปัจจุบัน และที่สำคัญกระทบต่อพนักงานในองค์กร

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย บริษัทที่ติดอันดับดีที่สุดจากการจัดอันดับโดย บลูมเบิร์ก ซึ่งเปิดเผยผลจัดอันดับคนรวย โดยในปีนี้ “วอร์ตัน” เจ้าของกิจการวอลมาร์ท (Walmart) ยังครองแชมป์มหาเศรษฐีโลกมีทรัพย์สิน 215 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,880,000 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่า เป็นตระกูลที่บริหารธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด มีสาขากว่า 11,000 สาขาทั่วโลก

ตระกูลเจียรวนนท์  เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี โดยนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส มีทรัพย์สินมูลค่ารวม 30.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 982,400 ล้านบาท ได้รับการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลก อันดับที่ 21 ซึ่งเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นในประเทศไทยและได้ขยายการลงทุนไปกว่า 22 ประเทศทั่วโลก

เครือซีพี ได้ขยายธุรกิจฟาร์มกุ้งไปในประเทศสหรัฐอเมริกา และ มีธุรกิจด้านอาหารทั้งในอเมริกาและยุโรป ทำให้รักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครือซีพี ได้มีธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ เกษตร อาหาร ค้าปลีก สื่อสาร และ ธุรกิจอื่นๆ ในหลายประเทศ โดยมีการนำธงชาติไทยไปติดในทุกสำนักงานที่ไปลงทุน นอกจากนี้ ในปี 2020 เครือซีพีได้ประกาศนโยบายความยั่งยืนสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ และ การบริหารจัดการของเสียเป็นศูนย์ ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ

เมื่อต้นปี ฟอร์บส์ ประเทศไทย เปิดเผยอันดับอภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 ตระกูลเจียรวนนท์ ยังคงครองอันดับ 1 แต่มูลค่าทรัพย์สินลดลงหลังการเข้าซื้อกิจการเทสโก้โลตัสในไทย และมาเลเซีย เหลือ 8.92 แสนล้านบาท อันดับที่ 2 “เฉลิม อยู่วิทยา” เจ้าพ่อกระทิงแดง อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี อันดับ 4  ตระกูลจิราธิวัฒน์

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้บริจาคเงินช่วยเหลือสังคมไทย รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท แบ่งเป็น สร้างโรงงานหน้ากากอนามัยฟรี 100 ล้านบาท พร้อมเพิ่มงบผลิตหน้ากากอีก 75 ล้านบาท บริจาคอุปกรณ์การแพทย์ 30 ล้านบาท, โครงการมอบอาหารต้านภัยโควิด-19 ให้บุคลากรการแพทย์ และผู้ถูกกักตัว 200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มซีฟีกำลังถูกตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจน คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)เรื่อง การผูกขาดตลาดด้านการค้าปลีก หวั่นการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสเข้าข่ายผูกขาดมีอำนาจเหนือตลาด ส่งผลกระทบหนัก SMEs ร้านโชห่วย ผู้บริโภค ปิดทางโต และไร้อำนาจต่อรองกับรายใหญ่อย่างซีพี  ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ชงตั้งคณะทำงานลงพื้นที่จริง เก็บข้อมูล เกาะติดตลาดค้าปลีก ขณะที่ “กขค.” ตีกลับ ให้ซีพียื่นเอกสารรอบ 2 ก่อนเริ่มต้นพิจารณา ซึ่งสังคมกำลังจับตาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร?