อัยการสั่งฟ้อง 20 ผู้ชุมนุมเมืองนนท์ป่วนขบวนนายกฯ โดนหนัก! ท้ายคำฟ้อง ให้ศาลลงโทษขั้นสูงสุด!
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรักษาความปลอดภัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในการลงพื้นที่ จ.นนทบุรี ครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเข้มงวด เนื่องจากก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาถึงจุดแรกที่เทศบาลปากเกร็ด ได้มีประชาชนบางส่วนมารอเพื่อตะโกนขับไล่ และยังด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่มาดูแลรักษาความปลอดภัย ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้นำรถน้ำและรถดับเพลิงมาเตรียมพร้อม
ขณะที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรี ซึ่งเป็นจุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องกลับมาขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ ได้มีมวลชนมาปักหลักเพื่อขับไล่ตั้งแต่เวลา 13.00 น.ซึ่งมีบางคนเตรียมน้ำปลาร้ามาด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝงชนมาตั้งแถวห้ามไม่ให้มวลชนเข้าใกล้ท่าน้ำนนท์ จนเกิดการผลักดันกันเป็นระยะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามนำรถขยายเสียงและรถคุมขังเข้ามายังพื้นที่ แต่ถูกมวลชนขวางไว้ จนต้องยอมถอยออกไป นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามนำรถขยายเสียงและรถคุมขังเข้ามายังพื้นที่ แต่ถูกมวลชนขวางไว้ และมีการปาน้ำปลาร้าใส่รถ จนต้องยอมถอยรนออกไป
ล่าสุดวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2564) ทางทวิตเตอร์ TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า วันนี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของ 20 ผู้ชุมนุมไล่ประยุทธ์ ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อ 30 ก.ย. 64 ต่อศาลแขวงนนทบุรี ในข้อหาฝ่าฝืน #พรกฉุกเฉิน #ม215 #ม216 โดยมีการเขียนท้ายฟ้องขอให้ศาลลงโทษในอัตราขั้นสูงสุดเพื่อให้เข็ดหลาบด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างประกันตัวในชั้นศาล
โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 64 ที่ สภ.เมืองนนทบุรี ผู้ได้รับหมายเรียกในคดีชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี อีก 4 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกครั้งที่ 2 โดยหนึ่งในนั้นเป็นนักกิจกรรมเยาวชนอายุ 17 ปี ตำรวจได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่เข้ารับทราบข้อหาก่อนหน้านี้ ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 21 ราย โดยเป็นเยาวชน 1 ราย ได้แก่ “ฟิวส์” เยาวชนจากกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย รวมทั้งยังมี “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ด้วย
ผู้ถูกออกหมายเรียกได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตั้งแต่ช่วงวันที่ 8, 12 และ 15 ตุลาคม จนชุดสุดท้ายในวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งข้อหาเช่นเดียวกัน รวม 3 ข้อหา ได้แก่
– ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก
– ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216
– ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 2415/2564 เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 62) ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ข้อ 4 การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุในลักษณะเดียวกัน โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 กลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน อันอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และได้มีผู้ร่วมชุมนุมบางคนทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขัดขวางขบวนรถนายกรัฐมนตรี ใช้เท้าถีบรถยนต์ในขบวน ตลอดจนมีผู้นำปัสสาวะมาราดรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และตำรวจได้แจ้งว่าชุมนุมดังกล่าวเป็นความผิด ให้ยุติเลิกการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ต้องหาไม่ยอมเลิก ผู้กล่าวหาจึงได้มาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป
ขณะที่ผู้ต้องหาบางส่วนได้ให้การในเบื้องต้น โดยสรุปว่าการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับไว้ ขณะเดียวกันประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ออกมาและบังคับใช้อยู่ในขณะนี้นั้น มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อป้องกันกับการแพร่โรคระบาด แต่กลับถูกนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุด จนเกินสมควรแก่เหตุ การตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการไม่ถูกต้อง
โดยทางอัยการได้รับสำนวนคดีทั้งหมดจากพนักงานสอบสวนสภ.เมืองนนทบุรีเรียบร้อยแล้ว พร้อมมีคำสั่ง ส่งฟ้องหรือตัดสิน หรือหากมีการเลื่อนส่งฟ้องต้องนำหลักทรัพย์มาประกันตัว อีกครั้งในวันที่ 5 พ.ย.นี้ เวลา 10.00น.ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี