บินไทยเดินหน้าต่อชีวิต!?! ชงแผนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาเชื่อมดอนเมืองสุวรรณภูมิ คาดปั้นรายได้ 405,216 ล้าน

2698

การบินไทยเปิดแผนเดินหน้าธุรกิจหลังแผนฟื้นฟูผ่าน เลหลังเครื่องบินเก่า 34 ลำเพิ่มสภาพคล่อง พร้อมเตรียมใช้จุดแข็งลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน เชื่อม 3 ฐานดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา วงเงิน 4,016 ล้านบาท คิ๊กออฟเมืองการบินอู่ตะเภา คาดรายได้ 12.04% ต่อปี 50 ปี กว่า 405,216 ล้านบาท และแผนนี้จะดำเนินการได้หลังเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ในไตรมาสแรกปี 2564 ยังเชื่อมั่นอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นใน 28 เดือน

ไทมไลน์การฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

-การบินไทยจะเสนอแผนฟื้นฟูต่อศาลได้ในไตรมาส 4 ของปี 2563 นี้ จากนั้น 

-ต้นปีหน้า 2564 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย -ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผน และแต่งตั้งผู้บริหารแผนตามขั้นตอนที่ 9

เมื่อดูจากเป้าหมายเรื่องเวลาการลงมือปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู น่าจะเริ่มได้ราวๆต้นไตรมาส 2 ของปีหน้า(2564) ประมาณ 6-7 เดือน ถ้านับจากปัจจุบันนี้

ปลดภาระ-ขายเครื่องบินเก่า

บมจ.การบินไทย ซึ่งอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการได้ประกาศขายเครื่องมือสองโดยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยเกินกว่า 20 ปี ส่วน A340 มีอายุเฉลี่ย 12-15 ปี พร้อมทั้งยืนยันเครื่องบินดังกล่าวทั้งหมดยังสามารถใช้งานได้และจะมีสัญญาขายที่ไม่มีประกันหลังการขาย (As is – Where is)

สำหรับเครื่องบินที่ประกาศขาย เว็บไซต์ระบุว่า เป็นเครื่องมีอายุการใช้งานกว่า 20 ปี รวมโบอิ้ง B747 และ B777-300 ทั้งหมด ผู้สนใจยื่นความจำนงซื้อได้ภายใน 13 พฤศจิกายน 2563 โดยผู้ที่สนใจซื้อเครื่องบินมือสองเข้าร่วมกระบวนการเสนอราคาการขายของการบินไทย โดยสามารถลงทะเบียนและข้อมูลได้ที่อีเมล [email protected] ยื่นความจำนงการซื้อขายได้ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563

สำหรับเครื่องบิน การบินไทยได้ประกาศชนิดและรุ่นของเครื่องในฝูงบิน รวม 34 ลำ ประกอบด้วย 1.AIRBUS A300-600 จำนวน 1 ลำ 2.BOEING 737-400 จำนวน 2 ลำ 3.AIRBUS A340-500 จำนวน 3 ลำ 4.AIRBUS A340-600 จำนวน 6 ลำ 5.BOEING 747-400 จำนวน 10 ลำ 6.BOEING 777-200 จำนวน6 ลำ 7.BOEING 777-300 จำนวน 6 ลำ

การประกาศขายเครื่องบินของการบินไทยครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศขายลอตใหญ่ เพราะต้องการบริหารจัดการต้นทุนดำเนินงานให้สอดคล้องกับฐานะของบริษัท เนื่องจากอากาศยานที่มีการประกาศขาย เป็นเครื่องบินมือสองที่อยู่ในแผนปลดระวางและเตรียมขายอยู่แล้ว ดังนั้น การนำมาประกาศขายในช่วงนี้ จะสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทในช่วงฟื้นฟูกิจการ

ใส่การลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานในแผนฟื้นฟู

เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยผ่านความเห็นชอบของเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบ  การบินไทยก็พร้อมที่จะเดินหน้าโครงการเพื่อก่อให้เกิดรายได้ อย่างยั่งยืนคือ “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน” ทั้งนี้เพราะพนักงานของการบินไทยมีความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุง เครื่องบินลำตัวกว้างมายาวนาน จึงเป็นจุดแข็งที่เป็นต้นทุนของการบินไทยอยู่แล้ว

โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน(MRO) อู่ตะเภา เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยทำงานคู่ขนานกับ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)ในการพัฒนาโครงการนี้มาโดยตลอด

โครงการ TG MRO ได้รับการคาดหวังจากทีมผู้บริหารการบินไทยในอดีตและปัจจุบันว่า โครงการนี้จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัทฯในอนาคต จากผลการศึกษา ‘ความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์’ ที่จัดทำเมื่อปี 2561 ที่มีการประเมินว่า ตลอดระยะเวลาโครงการ 50 ปี (2565-2614) บริษัทฯจะมีรายได้จาก TG MRO ประมาณ 5.45 แสนล้านบาท และมีรายจ่ายอยู่ที่ 10,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.76 แสนล้านบาท (ไม่รวมเงินลงทุน 1.03 หมื่นล้านบาท)

แต่เนื่องจากมีการระบาดโควิด-19 ซึ่งยังคาดไม่ได้ว่าจะจบลงเมื่อใด แม้มีวัคซีนแล้วก็ตาม ทางการบินไทยจึงปรับประมาณการผลตอบแทนเป็น 12.04% แทน 13.68% และปรับยอดรายได้ 50 ปีที่ 5.4 แสนล้านเป็น 405,216 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 11.24%

รูปแบบการลงทุน  เป็นบริษัทร่วมทุนที่การบินไทยถือหุ้นใหญ่  โดยมี 6 กลุ่มเป้าหมายหลักพุ่งไปที่โครงการ MRO ที่อู่ตะเภา สายการบิน ผู้ผลิตเครื่องบิน แอร์ไลน์ แลนลอดจ์ในอีอีซี เป็นต้น อาจมีพันธมิตรทางการเงินร่วม  ทั้งนี้คาดว่าใช้ระยะเวลาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ จากช่วงนี้ถึงกรกฎาคม 2564

และลงนามสัญญาร่วมทุนช่วงกรกฎาคม 2564 และลงนามในสัญญาเช่าที่ดินกับภาครัฐ(สกพอ.)เดือนสิงหาคม 2564 กำหนดเปิดดำเนินการได้ราวเดือนมีนาคม 2567

ในการนี้การบินไทยจะพัฒนาให้ธุรกิจ MRO เสริมกันทั้ง 3 ฐานปฏิบัติการ ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา  เพื่อสร้างเครือข่ายและดึงดูดลูกค้า

  1. ศูนย์ซ่อมอู่ตะภา ซ่อมบำรุงอากาศยานลำตัวกว้าง-แคบรุ่นใหม่ปนกันไป
  2. ศูนย์ซ่อมอากาศยานดอนเมือง ดำเนินการซ่อมเครื่องบินลำตัวแคบ พ่นสีใหม่ เป็นต้น
  3. ศูนย์ซ่อมอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นสำนักงานกลาง พัฒนาเป็น Digital Maintenance Control Center สำหรับโรงซ่อมอัจฉริยะ (Smart Hanger) และดูแลการตลาด

รายได้หลักจะมาจาก Line Maintenace-การซ่อมบำรุงอากาศยานแบบลานจอด เนื่องจากการบินไทยมีช่างที่ใบอนุญาตและเป็นช่างที่มีฝีมือมากที่สุดในประเทศไทย