กระแสการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองยังดุ แต่กลับส่งผลให้อุตสาหกรรมการแพทย์, อุปกรณ์การแพทย์ของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายโตอย่างก้าวกระโดด ระยะเวลา 9 เดือน(ม.ค.-ก.ย.2563)ยอดขอส่งเสริมลงทุนพุ่ง 65 โครงการ เพิ่มขึ้น 132% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,710 ล้านบาท นักลงทุนยังปักหมุดที่ EEC เป็นหลักมูลค่าเงินลงทุนรวม 109,430 ล้านบาท
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยรวมช่วง 9 เดือนของปี 63 (ม.ค.-ก.ย.) ว่า มีจำนวน 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,088 โครงการ ด้านมูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 223,720 ล้านบาท ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 262,470 ล้านบาท
สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ 58% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเลริมอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีจำนวน 556 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 128,980 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 37,550 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 26,880 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 19,980 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ 14,710 ล้านบาท
คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์ยังคงมีจำนวนโครงการและมูลคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้น 132% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวม แต่ในบางอุตสาหกรรมมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค”น.ส.ดวงใจ กล่าว
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือน มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 657 โครงการ ลดลง 1% โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ประทศญี่ปุ่น มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 139 โครงการ มูลค่า 37,545 ล้านบาท ตามด้วยจีน จำนวน 129 โครงการ มูลค่า 21,237 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ จำนวน 62 โครงการ มูลค่า 17,514 ล้านบาท
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจำนวน 313 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 109,430 ล้านบาท แบ่งป็นจังหวัดชลบุรี 165 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 46,860 ล้านบาท จังหวัดระยอง 112 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 48,370 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 36 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 14,200 ล้านบาท
นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ ได้แก่
–มาตรการส่งเสริม SME ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 54 โครงการ เพิ่มขึ้น 38% เงินลงทุน 2,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ
–มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 138 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เงินลงทุน 15,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการยังคงมีการลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมรับกับการฟื้นตัวในอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
น.ส.ดวงใจ เชื่อว่า คำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งปีจะอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท โดยแนวโน้มที่เหลือทั้งปี ไม่ได้คาดหวังโครงการที่เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก แต่คำขอที่เข้ามา 50% เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับคำขอขยายกิจการ