ช่วยกันฝ่าฟัน!! วันนี้ส่งออกไทยติดลบไม่มีลุ้น แต่ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงซ่อนเร้น  เอ็กซิมแบงก์มีวงเงินเสริมสภาพคล่อง ลดภาระหนี้ รออยู่

1940

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย แต่ปัจจัยเสี่ยงระบาดรอบสองยังต้องติดตามสถานการณ์ วิกฤติโรคระบาดผลักให้โลกเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 100 ปีนั้น ยังมีความเสี่ยงซ่อนอยู่หลายด้าน หากมองในมุมธุรกิจส่งออก แม้จะเบนเข็มจากมหาอำนาจสองขั้ว สหรัฐและจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเรา มามองโอกาสในเพื่อนบ้านอาเซียน ก็ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยง เอ็กซิมแบงก์พร้อมหนุนสภาพคล่องวงเงิน 2,000 ล้านบาท กู้รายละไม่เกิน 20 ล้าน

ส่งออกไทย มิ.ย. 63 หดตัว 23.2% ฉุดครึ่งปีแรกติดลบ 7.1% ศูนย์วิจัยกสิกรมองครึ่งหลังหดตัวลึกกว่าครึ่งแรก เหตุอุปสงค์โลกฟื้นช้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวม ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือนมิ.ย. 2563 อยู่ที่ 16,444 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 23.2 YoY ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังรุนแรงและการบังคับใช้มาตรการปิดเมืองหลายระดับในต่างประเทศ ส่งผลให้อุปสงค์โลกอ่อนแรงลง และซัพพลายเชนบางส่วนในต่างประเทศชะงักงัน รวมถึงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศใช้ระยะเวลามากขึ้น

โอกาสและความเสี่ยง

หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า จีนและสหรัฐฯ เป็น  2 ตลาดหลักที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนมิ.ย. 2563 ที่ร้อยละ 12.0 YoY และร้อยละ 14.5 YoY ตามลำดับ โดยการส่งออกสินค้าไทยไปจีนขยายตัวเป็นบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนจากการส่งออกเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ยางไปจีน   ในขณะที่การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวสูงในเดือนมิ.ย. 2563 จากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ 

การส่งออกของไทยมีปัจจัยบวกสำคัญได้แก่ การส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋อง แปรรูป เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคมีอุปสงค์ในสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพช่วงการกักตัวและการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นแต่ทุกอย่างคงต้องค่อยเป็๋นค่อยไป

ทิศทางเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น ไทยย่อมได้รับผลโดยตรง เป็นผลมาจาก

1.การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า  แม้จะมีข่าวดีจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนบ้าง แต่อาจต้องรอไปถึงกลางปีหน้า   

2.ความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและชาติตะวันตกกับจีน ที่กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง ซึ่งส่งผลกดดันทิศทางการค้าของโลกและการส่งออกของไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563 นี้อย่างแน่นอน

จากสถานการณ์การส่งออกโดยรวมดังกล่าวนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์รับมือกับความเสี่ยง 3 ประการหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง 1) ฐานะการเงินของคู่ค้า 2) ธนาคารที่ทำธุรกรรมให้คู่ค้า และ 3) ประเทศของคู่ค้า เพราะทั้ง 3 ส่วนนี้ย่อมได้รับผลกระทบจากการโรคระบาด และสงครามการค้าเช่นกัน  โดยผู้ประกอบการควรหมั่นติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าหลัก

ในการนี้ธนาคารเพื่อการส่งออกฯ ( EXIM BANK)  พร้อมที่จะช่วยผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้  ด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบของ COVID-19 ดังนี้คือ

1.เสริมสภาพคล่องผุ้ส่งออกในวงเงิน 2,000 ล้านบาท ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท

2.การพักชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้น 6 เดือน  

-บริการคลินิกให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ 

-สินเชื่อในเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ 

-ตลอดจนบริการที่ใช้รับมือและป้องกันความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจสอบสถานะคู่ค้าและธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ ไปจนถึงบริการประกันการส่งออก

ทั้งสองมาตรการมีไปจนถึง 31 ธันวาคม 2563 นี้