จับตาอย่าเพิ่งเฮ!กางกม.ตำรวจเห็นแย้งอัยการฯได้ คดีสั่งไม่ฟ้องธนาธรถือหุ้นสื่อ

3207

จากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นสถานะความเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กรณีถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด

ทั้งนี้หลังจากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ดำเนินการสอบสวนว่านายธนาธร กระทำผิดตามมาตรา 151 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ หรือไม่ ก่อนจะส่งสำนวนไปยังพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นายธนาธร ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง โดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า มีพยานหลักฐานชี้แจงชัดเจน และสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง นำตัวนายธนาธร พร้อมสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องคดี มาส่งต่อพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายธนาธรหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ดำเนินคดีอาญา”

ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า เกี่ยวกับการส่งสำนวนในวันดังกล่าวว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้นัดฟังคำสั่งคดีต่อไปในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. กระทั่งมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 พนักงานอัยการฯ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร โดยวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่มีเจตนา ที่จะไม่แจ้ง หรือ ปกปิด การถือครองหุ้นสื่อ

ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายธนาธร ได้ออกมากล่าวปฏิเสธว่า ไม่ทราบข่าว อัยการสำนักงานคดีอาญา 4 มีคำสั่งไม่ฟ้อง นายธนาธร ในคดีถือครองหุ้นสื่อ โดยคดีนี้อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 22 เมษายน 2564 เลื่อนมาจากวันที่ 19 กุมภาพันธ์ คงต้องรอรับแจ้งจากอัยการว่า ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ จะสามารถมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องได้หรือไม่ ถ้าอัยการแจ้งว่าจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะประสานนายธนาธร ร่วมเดินทางไปรับฟังคำสั่ง แต่ถ้าอัยการแจ้งว่าจะขอเลื่อนนัดสั่งคดี ก็คงไม่ต้องประสานนายธนาธรให้เดินทางไป

อย่างไรก็ตามในประเด็นหากว่าอัยการฯมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีทั่วไปนั้น ก็ยังไม่ได้สรุปว่าคดีดังกล่าวจะสิ้นสุดลงไปในทันที โดยเรื่องนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ ได้ตรวจสอบพบว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 การสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 143

ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน

บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้องถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม

นั่นเองที่ทำให้สังคมได้ตั้งคำถามขึ้นอีกว่า คดีของนายธนาธรนี้ จะจบลงแบบไหน หากว่าอัยการฯสั่งไม่ฟ้องแล้วทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะมีความเห็นแย้งหรือไม่??? เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการพิจารณา บางคดีทางตำรวจเห็นแย้งอัยการฯและก็มีบางคดีที่ตำรวจก็ไม่ได้เห็นแย้งอัยการฯเช่นกันเดียว

อย่างกรณีที่ คณะอัยการฯ โดยนายประยุทธ เคยแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” หรือ บอส ที่ความเห็นและคำสั่งของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง ได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อพิจารณา อันเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ซึ่งต่อมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คณะทำงานเห็นว่าการสั่งคดีของนายเนตร เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ด้าน พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และคณะแถลงกรณีการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส เป็นการดำเนินการพิจารณาความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 หลังจากพนักงานอัยการมีความเห็นแล้ว ต้องส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าจะเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้ง จนกระทั่งสุดท้ายสั่งไม่ฟ้อง จึงต้องอธิบายให้สังคมทราบได้

ด้านพล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวถึง เรื่องความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 จะดูการใช้ดุลยพินิจ ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งกรณีที่ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ใช้อำนาจ ผบ.ตร. ตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 นั้น การใช้ดุลยพินิจเห็นแย้งหรือไม่เห็นแย้งนั้น 97 เปอร์เซ็นต์ คดีที่มาจากพนักงานอัยการเราไม่แย้ง มีแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แย้ง เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่อ้างมา และข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน

“ขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมาย จะพิจารณาได้เฉพาะคำฟ้องของพนักงานอัยการ จะดูในข้อกฎหมายตามที่พนักงานอัยการมีความเห็นมา มีข้อกฎหมายถูกต้องหรือไม่ และดูข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการมีความเห็นมานั้น มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่ ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวน ที่จะไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพราะไม่มีอำนาจที่จะทำได้ แต่ยืนยันว่าไม่มีการฟอกขาวให้ใคร”