นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งดูแล SMEs ทุกด้าน ทุ่มงบฯเตรียมฟื้นฟู 1.14 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาSMEs ให้ตรงจุด นอกจากการบูรณาการช่วยเหลือ ทั้งมาตรการภาษี, มาตรการทางการเงินซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยแบบนี้ แต่ติดล็อคค้างท่อที่ระบบธนาคาร เงินไปกองอยู่ที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อไม่ได้ การเพิ่มเติมให้ SMEs ได้เข้าถึงสินเชื่อโดยตรงโดยนำระบบอินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มทางการค้าใหม่ๆมาใช้ เป็นการเริ่มที่ถูกทาง เพื่อขจัดตัวกลางทุกระดับ และเพิ่มเติมด้วยช่องทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เข้มข้น เพราะSMEs ส่วนใหญ่ยังอ่อนแอขาดเงินทุนและองค์ความรู้ การบำรุงรักษาพัฒนาSMEsได้ คือการสร้างเศรษฐกิจฐานรากแข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง
รัฐบาลตั้งเป้าดูแล SMEs หนุนฟื้นฟูและการเติบโต
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการSME ในทุกด้านอย่างบูรณาการเพื่อเสริมศักยภาพให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด19 และกลับมาเติบโตได้ในระยะยาว ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆดูแลSMEs อย่างต่อเนื่อง ได้แก่
-มาตรการช่วยเหลือด้านภาษีเพื่อลดภาระผู้ประกอบการ
-มาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยพยุงธุรกิจให้ดำเนินต่อไป ด้วยการพักชำระหนี้ ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินรวม 114,100 ล้านบาท เป้าหมายกลุ่ม SMEs ทั่วไป SMEsท่องเที่ยว และSMEs รายย่อยและประชาชน
-ล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อใหม่ “SMEs มีที่ มีเงิน” ให้ SME ใช้ที่ดินเป็นหลักประกันกู้เงินได้ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อธนาคารฯได้ เปิดให้กู้ถึง มิ.ย.ปีหน้า
-มาตรการปลดล็อคให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งวิธีคัดเลือกและวิธี E-Bidding ขณะนี้รอประกาศร่างกฎกระทรวงเพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
-สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ตั้งเป้าปี 2564 จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME และผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 216,562 ราย ผ่านการให้การอบรมและให้คำปรึกษาเป็นรายกลุ่มตามความต้องการ
-กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ เพราะนอกจากการความพร้อมของเงินทุนและการผลิตที่มีประสิทธิภาพแล้ว ศักยภาพด้านการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ กระทรวงฯจึงได้เดินหน้าเรื่องการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการและการตลาดกับ SME ทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับบริษัทใหญ่ระดับโลกในการพัฒนาหลักสูตร ตั้งเป้าเบื้องต้นเป็นผู้ประกอบการ SME 1,000 แห่ง และหลักสูตรเฉพาะอีคอมเมิร์ซสำหรับคนรุ่นใหม่ 12,000 คน อีกทั้งได้กำหนดแผนส่งเสริมให้ SME ได้เข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ เป้าหมาย 10-15% ของผู้ประกอบการทั้งหมด
ธพว. ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันสินค้า SME ขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มซ้อปปิ้งออนไลน์ เช่น Shopee, LAZADA, Alibaba จาก เดือนเมษายน 2563 ที่มียอดการเข้ามาลงทะเบียนร่วมกิจกรรมกว่า 2,800 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีกว่า 23,000 ราย
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแล SME เป็นอย่างมาก เพราะเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ มีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและกระจายรายได้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ให้แก่ SME โดยตรง หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ติดตามผลลัพธ์ของมาตรการต่างๆ รับฟังเสียงจากภาคเอกชน และพร้อมจะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการฟื้นตัวและเติบโตต่อไปของ SME