ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหากำไร ห้ามกระทบต่อความมั่นคง ฝ่าฝืนสั่งยุติ-รับโทษทางอาญา!

1336

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหากำไร ห้ามกระทบต่อความมั่นคง ฝ่าฝืนสั่งยุติ-รับโทษทางอาญา!

จากกรณีที่วันนี้ (4 มกราคม 2564) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของ คณะกรรมการ กฤษฎีกา และมอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับร่าง พ.ร.บ. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย ตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 62 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

 

โดยมุ่งเน้นส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินกิจการที่ให้เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งมีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ไม่ให้เป็นภาระแก่องค์กรไม่แสวงหากำไร ขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ฯ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญด้วย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญร่าง พ.ร.บ. ฯ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โปร่งใส และเป็นประโยชน์ ซึ่ง ยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากลว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งหลายประเทศก็มีกลไก และกฎกติกา เช่นนี้ ขณะที่รอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้กฏหมายที่มีอยู่ พร้อมขอสนับสนุนจากวิปในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

สาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….” อาทิ กำหนดบทนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชน ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงาน เพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรม เป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้ ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ต้องอยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร” ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็น ประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ไม่แสวงหากำไร เช่น เสนอแนะต่อ ครม. เรื่องสิทธิประโยชน์ ทางภาษีให้แก่องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุน กำหนดสิทธิประโยชน์ขององค์กรไม่แสวงหากำไรโดยให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไร อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ขณะเดียวกัน กำหนดให้องค์กรฯ ไม่แสวงหากำไร ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น ชื่อ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ แหล่งที่มาของเงินทุน และรายชื่อผู้รับผิดชอบ และห้ามไม่ให้ดำเนินงานที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การดำเนินงานที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม หากได้รับเงินจาก ต่างประเทศต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคาร ที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงิน ไปใช้จ่าย ต่อนายทะเบียน ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารที่แจ้งไว้ต่อนายทะเบียน

ต้องใช้เงินเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียน และต้องไม่ใช้เงินเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะ การแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละรอบปีปฏิทิน และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าว โดยต้องเก็บรักษาบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นไว้ให้สามารถตรวจสอบได้เป็นเวลา 3 ปี

รวมทั้งยังกำหนดมาตรการบังคับและโทษ โดยกำหนดให้ในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากำไรไม่ดำเนินการ หากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว อาจถูกสั่งให้หยุด การดำเนินกิจกรรมหรือยุติการดำเนินงานได้ และกำหนดโทษปรับทางอาญาสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร และผู้รับผิดชอบ หากไม่หยุดการดำเนินกิจกรรมหรือยุติการดำเนินงานหลังจากได้รับคำสั่งด้วย