ข่าวการลงนามสัญญาความมั่นคงระหว่างจีนและหมู่เกาะโซโลมอน ทำสหรัฐและออสเตรเลียเต้น เพราะผวาว่าจีนได้จุดยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว โดยมีข่าวหลุดว่าเนื้อหาสัญญาอนุญาตจีนช่วยเหลือทางทหารได้เมื่อเกิดภัยพิบัติทั้งทางธรรมชาติและการเมือง
นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะโซโลมอนตอบโต้สวนกลับทั้งสหรัฐและออสเตรเลียว่าการลงนามในข้อกตลงด้านความมั่นคงกับจีน เป็นเพราะ “ข้อตกลงแบบเดียวกันกับออสเตรเลียก็ทำแล้วแต่ไม่เพียงพอ” และยืนยันว่า “ไม่มีการตั้งฐานทัพแต่อย่างใด” ทั้งเรียกร้องให้ตะวันตกหยุดใส่ร้ายและก้าวล่วงอธิปไตยของประเทศ
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2565 สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า นายกรัฐมนตรี มานัสเซห์ โซกาวาเร ผู้นำหมู่เกาะโซโลมอน แถลงข่าวในวันศุกร์ที่ 29 เม.ย. เกี่ยวกับการลงนามในข้อตกลง ว่าด้วยการยกระดับการเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงระดับทวิภาคีกับจีน เมื่อช่วงกลางเดือนนี้ ว่าเป็นข้อตกลงที่มีความจำเป็น เนื่องจากความร่วมมือแบบเดียวกันนี้กับออสเตรเลีย “ไม่เพียงพอ”
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านของหมู่เกาะโซโลมอน และรัฐบาลของบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แสดงความกังวลต่อการที่ทั้งจีนและโซโลมอนแทบไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของข้อตกลง ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ไปในทางเดียวกัน ว่าข้อตกลงนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาตั้งฐานทัพอย่างแนบเนียนในอนาคต
เมื่อช่วงวันอาทิตย์ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสกอตต์ มอร์ริสัน(Scott Morrison) นายกรัฐมนตรี ออสเตรเลีย ถึงขั้นกล่าวว่า “เราไม่ต้องการที่จะเห็นทหารจีนเข้ามาเพ่นพ่านอยู่ในฐานทัพเรือภายในภูมิภาคที่เป็นเสมือนปากประตูบ้านของเรา…”
ขณะเดียวกันสายเหยี่ยวของออสเตรเลียก็ออกมาเชียร์ให้ใช้กำลังบุกยึดเกาะเลยจะทำให้ได้เปรียบ
เดวิด ลีเวลลิน-สมิธ (David Llewellyn-Smith) อดีตเจ้าของนิตยสารเกี่ยวกับการต่างประเทศ The Diplomat คือแกนนำหลักที่เรียกร้องให้ออสเตรเลียบุกโซโลมอน เขาบอกว่า สกอตต์ มอร์ริสัน ควร “เผชิญหน้าโดยตรง” กับมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ในกรณีโซโลมอนโดยใช้ “ทุกวิถีทางที่จำเป็น” เพื่อขับไล่จีนออกจากภูมิภาค
ลีเวลลิน-สมิธบอกว่า “ไม่มีทางที่ออสเตรเลียจะยอมให้ข้อตกลงนี้ดำเนินต่อไปได้ ถ้าจำเป็นออสเตรเลียควรบุกยึดเกาะกัวดัลคะแนลเพื่อที่เราจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในกรุงโฮนีอารา มันมีซอฟท์พาวเวอร์อื่นให้งัดออกมาใช้ก่อน และเราควรงัดออกมาอย่างแข็งขัน แต่เราควรเริ่มรวบรวมกองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกทันทีเพื่อเพิ่มแรงกดดัน”
ทั้งนี้ ผู้นำโซโลมอนยืนยันว่า ประเทศแห่งนี้แม้เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก แต่มีประสบการณ์ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และจะไม่อนุญาตให้ ประเทศใดมีการตั้งฐานทัพบนแผ่นดินโซโลมอนเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม โซกาวาเรได้วิจารณ์การที่สหรัฐไม่รวมหมู่เกาะโซโลมอน ในโครงการฟื้นฟูหลังสงครามของรัฐบาลวอชิงตัน แสดงถึงความไม่ใส่ใจของตะวันตกต่อโซโลมอนมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ผู้นำโซโลมอนยังให้ความเห็น เกี่ยวกับการที่ออสเตรเลียเข้าร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรความร่วมมือไตรภาคี “ออคัส” กับสหรัฐและสหราชอาณาจักร ว่ากลุ่มประเทศแปซิฟิกหลายแห่ง “ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง” ที่รัฐบาลแคนเบอร์ราเข้าร่วมออคัส โดยไม่ปรึกษาหารือกับเพื่อนบ้าน และมองว่าข้อตกลงนี้จะเป็นการนำเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ให้เข้ามาทะเลแถบนี้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในหมู่เกาะด้วย
ประเด็นมีฐานทัพหรือไม่เป็นเรื่องร้อนที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ด้านมิไฮ โซระ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศออสเตรเลียจากสถาบันโลวีในออสเตรเลีย ยกกรณีของประเทศจิบูตีที่ทำข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาจนกลายมาเป็นการสร้างฐานทัพซึ่งปีกกิ่งเลี่ยงบาลีเรียกว่าเป็น “สิ่งอำนวยความสะดวกด้านลอจิสติกส์”
ชาร์ลส์ เอเดล ประธานออสเตรเลียและที่ปรึกษาระดับอาวุโสของ ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) แสดงความเห็นกับ The New York Times ว่า “จีนได้ขยายการปรากฎตัวและขยายอิทธิพลไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และอย่างที่เคยทำมา ปักกิ่งกำลังตามล่าหาฐานทัพทหารในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะทำให้จีนสามารถแสดงอำนาจออกไปภายนอกและมีอิทธิพลต่อการเมืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้”
ขณะที่ทาร์ซิเซียส คาบูเทาลาคา นักรัฐศาสตร์ ชาวหมู่เกาะ มองว่า จีนไม่น่าจะตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอนอย่างเป็นทางการ เพราะจะยิ่งทำให้จีนถูกชาวโซโลมอนและชาวโลกมองในแง่ลบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะไม่มีกองกำลังทหารในหมู่เกาะโซโลมอนแบบไม่เปิดเผย และหากจีนสามารถส่งเรือรบหรือบุคคลากรทางทหารเข้าไปในโซโลมอนได้ ดังที่ร่างสัญญาที่หลุดออกมาระบุไว้ จีนก็ไม่จำเป็นต้องมีฐานทัพอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด