การต่อสายตรงของปธน.โจ ไบเดนถึงผู้นำฝรั่งเศสเพื่อแสดงความยินดีกับชัยชนะไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าตัว อ้างอยู่ในงานฉลองที่หอไอเฟล บ่งบอกสภาพความสัมพันธ์ของสองประเทศค่อนข้างชัดเจน แม้วันรุ่งขึ้นจะได้คุยก็เป็นไปอย่างเป็นทางการ กระนั้นในการเดินหน้าผลักดันสงครามในยูเครนโดยสหรัฐ ก็สามารถกดดันให้ฝรั่งเศสตอบรับส่งอาวุธให้ยูเครนตามคำสั่งวอชิงตัน พร้อมกับเยอรมนีและอังกฤษ เท่ากับลากยาวสงครามยูเครนต่อและอาจลามถึงแผ่นดินยุโรปด้วย
Pres. Biden says he feels "good” about French Pres. Emmanuel Macron’s reelection.
“I tried to talk to him last night. We spoke with his staff but he was at the Eiffel Tower having a good time. So I’m going to be talking to him today.” https://t.co/dnrT8W5wXz pic.twitter.com/4aVXiQniQH
— ABC News Politics (@ABCPolitics) April 25, 2022
วันที่ 26 เม.ย.2565 สำนักข่าวฟอกซ์นิวส์และรัสเซียทูเดย์รายงานว่า คืนวันประกาศชัยชนะได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสสมัยที่ 2 ของเอ็มมานูเอล มาครงนั้น (Emmanuel Macron) ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯต่อสายตรงหาเพื่อแสดงความยินดีเป็นคนแรกแต่พลาดหวังเพราะมาครงไม่รับสาย อดีตนั้นปธน.มาครง เป็นหนึ่งในผู้นำต่างชาติกลุ่มแรกที่แสดงความยินดีกับโจ ไบเดน กับชัยชนะของเขาเหนือโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 แต่ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้อยู่แถวๆ สถานที่จะรับสายเมื่อคู่หูสหรัฐฯ พยายามจะแสดงความยินดีหลังจากที่เขา ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ไบเดนบอกกับนักข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า “ผมพยายามคุยกับเอ็มมานูเอล มาครงเมื่อคืนนี้”“แต่ได้คุยกับพนักงานของเขา ว่าเขาอยู่ที่หอไอเฟลด้วยความสนุกสนาน วันนี้ฉันจะไปคุยกับเขาใหม่”
คนอื่นๆโชคดีกว่าปธน.ไบเดน เนื่องจากปธน.เซเลนสกี แห่งยูเครนตลอดจนผู้นำนาโต้และสหภาพยุโรปได้แสดงความยินดีกับมาครงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผ่าน Twitter อย่างรวดเร็ว เมื่อมาครงชนะคู่ต่อสู้ของเขา มารีน เลอแพน ด้วยคะแนน 58.5% ต่อ 41.5%
ไบเดนได้เขียนลงบนทวิตเตอร์แทนเมื่อวันอาทิตย์“ ขอแสดงความยินดีกับเอ็มมานูเอล มาครงในการเลือกตั้งใหม่ของเขา” และกล่าวว่า “ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของเราและเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก ฉันหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนยูเครน การปกป้องประชาธิปไตย และการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียแสดงความยินดีกับมาครง โดยส่งโทรเลขว่า“ฉันขอให้คุณประสบความสำเร็จในกิจการของรัฐทุกประการ รวมทั้งมีสุขภาพที่ดีและมีความเป็นอยู่ที่ดี”
ในที่สุด Biden และ Macron ก็ได้คุยกันทางโทรศัพท์ในวันจันทร์ ผู้นำทั้งสองไม่ได้เห็นตรงกันทั้งหมดในการตอบโต้ต่อการบุกยูเครนของกองทัพรัสเซีย
มาครงเรียกร้องให้มีการเจรจากับมอสโกว์เพื่อช่วยสร้างสันติภาพ และเขาได้เลือกที่จะไม่ติดตามสหรัฐฯและผู้นำนาโตคนอื่นๆ ในการตราหน้าปูตินว่าเป็น“อาชญากรสงคราม”และกล่าวหาว่ากองกำลังรัสเซียทำ “การล้างเผ่าพันธุ์” อันที่จริงแล้ว เขาแนะนำเมื่อต้นเดือนนี้ว่าสำนวนโวหารดังกล่าวไม่เอื้อต่อการยุติความขัดแย้ง สร้างสันติภาพในยูเครนแต่อย่างใด ผู้นำควรระมัดระวังคำพูด
ผู้นำทั้งสองยังปะทะกันหนักเมื่อปีที่แล้ว เช่นกรณีอาฟกานิสถาน มาครงตำหนิไบเดนว่า “ละทิ้ง” พันธมิตรที่สนับสนุนตะวันตกในอัฟกานิสถาน และโต้แย้งว่าประเทศต่างๆ ควรมี”ความรับผิดชอบทางศีลธรรม”ต่อชาวอัฟกัน ต่อมาในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ฝ่ายบริหารของมาครง เรียกคืนเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันกลับประเทศ เพราะวอชิงตันร่วมมือกับสหราชอาณาจักร แทงหลังฝรั่งเศส โดยเกลี้ยกล่อมออสเตรเลียให้ยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำกับฝรั่งเศสและซื้อเรือของพวกเขาแทน เจ็บนี้น่ายังฝังใจไม่ลืม
ล่าสุดสหรัฐยังคงเดินหน้าบีบพันธมิตรส่งอาวุธให้ยูเครนต่อ โดยลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเชิญรัฐมนตรีกลาโหมชาติพันธมิตรกว่า 40 ประเทศประชุมที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ในเยอรมนี เพื่อหารือส่งอาวุธหนักเพิ่มให้กองทัพยูเครน ด้านรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี เผยเตรียมส่งรถถังที่ปลดประจำการให้ ขณะที่ฝรั่งเศสจะส่งปืนใหญ่และอังกฤษส่งมิสไซล์ช่วยกองทัพยูเครน
คริสติน แลมเบรชท์ รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี (Christine Lambrecht)ในที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมกว่า 40 ชาติ ที่จัดประชุมฉุกเฉินตามคำเชิญของลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ของสหรัฐ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีในวันเดียวกัน
แลมเบรชท์ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีอนุมัติให้ส่งรถถังเกพาร์ด ซึ่งเป็นรถถังต่อต้านอากาศยานที่กองทัพเยอรมันเคยใช้งานแล้วให้กับกองทัพยูเครน แหล่งข่าวของรัฐบาลเยอรมันเผยว่า รถถังที่จะส่งมอบนี้ไม่ได้นำมาจากกองทัพเยอรมนี แต่อยู่ในคลังเก็บของ Krauss-Maffei Wegmann (KMW) บริษัทผลิตอาวุธของเยอรมนี รถถังเหล่านี้ปลดประจำการเมื่อ 10 ปีก่อน จำเป็นต้องมีการอัปเกรดทางเทคนิคก่อนที่จะส่งให้ยูเครน ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ สนับสนุนอาวุธให้ยูเครน ได้แก่ ติดตั้งระบบต่อสู้อากาศยานที่กรุงเคียฟ อาวุธต่อต้านอาวุธต่อสู้รถถังแบบสะพายไหล่ และรถยนต์หุ้มเกราะ
ดูเหมือนว่าแม้พันธมิตรสหรัฐฯอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส จะไม่ค่อยเต็มใจทำตามข้อเรียกร้องของวอชิงตันเท่าใดนัก แต่ก็ยังคงต้องร่วมมืออย่างเสียไม่ได้ต่อไป ท่ามกลางเค้าลางสงครามใหญ่จะขยายวงสู่แผ่นดินยุโรป ตามความประสงค์ของสหรัฐ ใกล้เป็นจริงเข้ามาทุกที ต้องจับตาว่าใครจะสามารถเหนี่ยวรั้ง หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุโรปพังทลายด้วยน้ำมือของตัวเอง???