จีนว๊ากสหรัฐ!! อย่าคิดตั้ง NATO เวอร์ชันเอเชีย ปักกิ่งไม่ทนจะตอบโต้คืนให้สาสม

1885

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลปักกิ่งเตือนฝ่ายบริหารของไบเดน อย่าทำผิดพลาดเหมือนที่เกิดขึ้นในยุโรป โดยใช้นาโตเผชิญหน้ารัสเซียผ่านกรณียูเครน และพยายามสร้างนาโตเวอร์ชันอินโด-แปซิฟิก เพื่อควบคุมและบีบคั้นประเทศจีน จีนกล่าวว่ายูเครน “เป็นรัฐเอกราช” แต่ไต้หวัน “เป็นส่วนหนึ่งของจีน” จึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันเพราะบริบทต่างกัน ขณะที่ไต้หวันประกาศยืนข้างยูเครน ชื่นชมว่าเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ให้กับตนหลังสหรัฐส่งทีมมาปลอบ ก่อนหน้านี้ปัดพัลวันว่าไต้หวันไม่เหมือนยูเครน

วันที่ 8 มี.ค.2565 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก, รัสเซียทูเดย์และโกลบัลไทมส์ (Bloomberg -RT-Globaltimes) รายงานสอดคล้องกันว่า หวางอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวให้สัมภาษณ์นอกรอบการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติครั้งที่ 13 (เอ็นพีซี) ในกรุงปักกิ่ง เกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบในยูเครน ว่าประชาคมโลกไม่ควรเชื่อมโยงกรณียูเครนกับไต้หวัน เนื่องจากไต้หวัน “เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน” และทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้ “เป็นกิจการภายในของแผ่นดินใหญ่” จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้

และได้ระบุว่าเป้าหมายที่แท้จริงของยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกคือการจัดตั้ง NATO เวอร์ชันใหม่ในเอเชีย โดยเตือนทำเนียบขาวว่าความพยายามใดๆ ที่จะทำเช่นนั้นจะถูกขัดขวางอย่างถึงที่สุด

หวางอี้กล่าวว่า “เอเชียแปซิฟิกเป็นดินแดนแห่งความหวังสำหรับความร่วมมือและการพัฒนา ไม่ใช่กระดานหมากรุกสำหรับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์” 

เกี่ยวกับบรรยากาศตึงเครียดข้ามช่องแคบ เจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่า “เป็นความผิดของไต้หวัน ซึ่งไม่ยอมรับนโยบายจีนเดียว ว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ และเตือนว่าการเดินหน้าต่อต้านมีแต่จะยิ่งทำลายอนาคตของไต้หวันฝ่ายเดียว ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วไต้หวันต้องกลับมารวมกับแผ่นดินแม่”

ในเวลาไล่เลี่ยกัน นายโจเซฟ อู๋ รมว.การต่างประเทศไต้หวัน(Taiwanese Foreign Minister: Joseph Wu) แสดงความชื่นชมการต่อสู้ของยูเครนในสงครามรัสเซีย ว่า “เป็นแรงบันดาลใจ” ให้กับชาวไต้หวัน ในการต่อสู้กับ “ภัยคุกคามของผู้ใช้อำนาจเผด็จการ”แม้ไม่ระบุชื่อว่าเป็นประเทศไหนก็อนุมานได้ว่าหมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่นั่นเอง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทเป นำโดยประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน นายวิลเลียม ไล่ รองประธานาธิบดี และนายซู เจิ้ง-ชาง นายกรัฐมนตรี สละเงินเดือนคนละ 1 เดือน เพื่อร่วมสมทบทุนการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลไทเปให้แก่ทางการยูเครน

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐประกาศเชิญผู้นำอาเซียนไปร่วมประชุมที่วอชิงตันในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้  การประชุมสุดยอดทำเนียบขาว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯ ในการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่วอชิงตันเห็นว่ามีความสำคัญต่อความพยายามที่จะต่อต้านอำนาจของจีนที่กำลังขยายตัว

ความพยายามของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรในเอเชียเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่หวางยกขึ้นในการบรรยายสรุปเกือบ 2 ชั่วโมงต่อสภาประชาชนแห่งชาติในกรุงปักกิ่ง โดยหวางอี้ได้พาดพิงถึงสหรัฐฯ ว่าเป็นต้นตอของปัญหากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และที่จีนคัดค้านมากที่สุดคือการขยายความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน เป็นการยั่วยุอย่างร้ายกาจและไม่เคารพหลักการจีนเดียวที่สหรัฐลงนามกับจีนถึง 3 ฉบับ

สำหรับความกังวลของจีนเรื่องนาโตเวอร์ชั่นเอเชีย-แปซิฟิกไม่ได้เป็นเพียงเรื่องจินตนาการ แต่มาจากการประกาศโดยตรงของปธน.โจ ไบเดนและฝ่ายบริหารทำเนียบขาวในฤดูใบไม้ผลิปี 2021ที่ว่าด้วย “พันธมิตรประชาธิปไตยของสหรัฐ” 

ปธน.โจ ไบเดนประกาศในแนวทางเชิงกลยุทธ์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของเขาว่า “การช่วยให้สหรัฐสามารถนำเสนอแนวร่วม สร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นหนึ่งเดียว และรวบรวมความแข็งแกร่งของพันธมิตรเพื่อส่งเสริมมาตรฐานระดับสูง กำหนดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าหมายต้านทานอิทธิพลจีน คือเหตุผลที่สหรัฐจะยืนยันอีกครั้งว่า จำเป็นอย่างยิ่งในการลงทุน และปรับปรุงองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) กับเหล่าพันธมิตรของสหรัฐคือออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้) ควบคู่ไปกับพันธมิตรระดับโลกอื่น ๆ ของเรา นับเป็นยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา” 

แสดงให้เห็นชัดเจนถึงเจตนาของสหรัฐฯ ในการก่อตั้งพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายแบบเดียวกับ NATO ในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยมุ่งเน้นที่ประเด็นต่อต้านจีนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ความเป็นหุ้นส่วนของ ภาคีควอด(Quad) คือความเป็นหุ้นส่วนทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ส่วนพันธมิตรออคัส (AUKUS) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จึงเป็นสององค์กรที่จัดตั้งขึ้น เป็นการตอบสนองด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร เพื่อต่อต้านจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั่นเอง