บีทีเอสลุ้นครม.ลงนามขยายสัมปทาน 30 ปี แลกแบกภาระหนี้ 1 แสนล้านแทนกทม. หลังเห็นชอบในหลักการมาแล้ว และการทดลองเดินรถเป็นไปอย่างเรียบร้อยทั้ง 4 สถานีใหม่เต็มรูปแบบ คาดผ่านฉลุยประชุม ครม. 4 ส.ค.นี้
ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ได้แก่ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ (N14), สถานีบางบัว (N15), สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17)
ครม.เห็นชอบผลการศึกษาการขยายสัมปทานเดินรถบีทีเอส เพื่อแลกภาระหนี้ 1 แสนล้าน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิ.ย.63 เห็นชอบผลศึกษา ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอขยายสัมปทานเดินรถให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (BTSC) รวม 3 ส่วนเข้าด้วยกัน โดยพิจารณาจาก 1.บีทีเอส เป็นผู้ชำนาญเดินรถในเส้นทางนี้หากใครแข่งขันเชื่อว่า ยากที่จะเข้ามา 2.รัฐลดภาระหนี้กว่าแสนล้านบาท ในยามที่งบประมาณมีจำกัดท่ามกลางสถานการณ์โควิด – 19 3. ดึงคนใช้รถไฟฟ้าจากค่าโดยสารถูกลง ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ต่างจากอัตราค่าโดยสารเดิมที่ บีทีเอสคำนวนไว้ ที่ 158 บาท 4. เห็นด้วยว่าชอบด้วยกฎหมาย กรณีกรุงเทพมหานครยึดตามแนวทาง คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามมาตรา 44 แทนพ.ร.บ. เอกชนร่วมลงทุนรัฐปี 2562 (พีพีพี )
ภายใต้เงื่อนไข
- บีทีเอสรับภาระหนี้-ดอกเบี้ยช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิด-สะพานใหม่-คูคต รวา 1 แสนล้านบาท
- ค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท, ค่าแรกเข้าครั้งเดียว ไม่เกิน 14-15 บาท
- ลงทุนค่าติดตั้งอาณัติสัญญา สายสีเขียวส่วนต่อขยาย
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวชี้แจงผลการดำเนินงานของบริษัทในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2563 โดยระบุว่าผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา (เม.ย.62-มี.ค.63) ถือว่าเป็นปีที่ดีมากของบริษัท มีกำไรสุทธิ 8,161.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 184.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีรายได้รวม 42,203 ล้านบาท ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนยังเป็นรายได้หลักคิดเป็น 80% สื่อโฆษณา 15% บริการ 4%และอสังหาริมทรัพย์ 1%
“แต่ปีนี้เป็นปีพิเศษมีการระบาดของโควิด-19 กระทบต่อธุรกิจในเครือ ทั้งรถไฟฟ้าที่ความต้องการเดินทางลดลงในช่วงม.ค.-มี.ค.ผู้โดยสารลดลงไป17.5% ตอนนี้เริ่มกลับมาเกือบเป็นปกติแล้วเช่นเดียวกับสื่อโฆษณา ส่วนอสังหาฯที่ลงทุนผ่านยูซิตี้ที่ที่ผ่านพลิกมีกำไร 1,800 ล้านบาท แต่ปีนี้จากโควิดกระทบแน่นอน เพราะมีธุรกิจโรงแรมอยู่ที่ต่างประเทศ”
นายคีรีกล่าวอีกว่า “จากกรณีโควิด บริษัทต้องกลับมามองว่าจะต้องปรับเปลี่ยนหรือมีโอกาสยังไงกับภาวะแบบนี้ และหลังจากโควิดคลี่คลายแล้ว ปัจจุบันยังมีโครงการในมือที่ต้องดำเนินการ เช่น ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสีชมพูแคราย-มีนบุรี ถึงขณะนี้ยังคงแผนเดิมจะสร้างเสร็จเปิดใช้ในเดือนต.ค.2564 แม้รัฐจะส่งมอบพื้นที่ให้ล่าช้า
ยังมีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงการรวม 66 กม. ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งบริษัทรับภาระหนี้แทนกรุงเทพมหานคร(กทม.) ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยกทม.มีเงื่อนไขให้เก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากปัจจุบันบีทีเอสมีสัมปทานเดินรถสายสีเขียวอยู่แล้ว 23.5 กม. ยังเหลืออายุสัมปทาน 8 ปี และรับจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวให้กทม.ระยะยาว 30 ปี ซึ่งรัฐจะรวมทั้งสัมปทานเก่าและใหม่เป็นสัมปทานเดียวกัน”
ล่าสุด บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อซองประมูลโครงการรถไฟฟ้า “สายสีส้ม” ตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ซึ่งความคืบหน้าการประมูลรถไฟฟ้าเส้นดังกล่าว คาดว่าจะเปิดปุ่มเริ่มประมูลได้ในเดือนก.ย.63
นอกจากนี้จุดเด่นของ BTS ในครึ่งปีหลังคือ การเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้เต็มเส้น โดยในปี 2563 นี้ BTS ในนามกลุ่ม BTSC จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวม 59 สถานี รวมระยะทาง 66 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีการเคหะ สมุทรปราการ-คูคต ปทุมธานี และเส้นสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการรวม 52 สถานี ดังนั้นการรอเปิดเพิ่มอีก 7 สถานีในเส้นสายสีเขียวเหนือ (สถานีปลายทางคูคต) ทำให้ BTS จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน