รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้…
สถานการณ์ทั่วโลก 12 ตุลาคม 2563… เมื่อวานติดเพิ่มอีก 271,398 คน รวมแล้วตอนนี้ 37,705,487 คน ยอดตายรวม 1,080,607 คน
อเมริกา ติดเพิ่ม 45,311 คน รวม 7,987,265 คน กำลังจะทะลุ 8 ล้านคน คาดว่าน่าจะช่วงเย็นนี้
อินเดีย ติดเพิ่ม 67,757 คน รวม 7,119,300 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 12,949 คน รวม 5,095,586 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 13,634 คน รวม 1,298,718 คน จำนวนติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อันดับ 5-10 ตอนนี้ยังคงเป็น โคลอมเบีย สเปน อาร์เจนตินา เปรู เม็กซิโก และฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหมื่นกว่า
หลายต่อหลายประเทศในยุโรปก็ยังติดกันหลักร้อยถึงหลักพัน
ญี่ปุ่น และมาเลเซียติดเพิ่มกันหลายร้อย ส่วนจีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลียติดเพิ่มกันหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง เวียดนาม และนิวซีแลนด์ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
…สถานการณ์ในเมียนมาร์รุนแรงขึ้นมาก ติดเพิ่มไปอีกถึง 1,910 คน ตายเพิ่มอีกถึง 48 คน ตอนนี้ยอดรวมถึง 27,974 คน ตายไปมากถึง 646 คน อัตราตายตอนนี้ 2.3% ยอดติดเชื้อสะสมแซงออสเตรเลียไปเรียบร้อยแล้ว
…ภาพที่เราเห็นตอนนี้คือ
หนึ่ง การลักลอบเข้าเมือง และการตรวจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สอง จำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบจากกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศ ทั้งคนไทย และคนต่างชาติ
สาม ข้อมูลที่ผ่านมาบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการติดเชื้อในประเทศ โดยระบุต้นตอไม่ได้ และไม่ทราบจำนวน ไม่ทราบการกระจาย ไม่ทราบสถานการณ์ที่แท้จริง
สี่ การเปิดประเทศ มุ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อหวังรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการ์ดภายในประเทศไม่แข็งแรง แม้ปัจจุบันจะยังเลื่อนไปรับตอนปลายตุลาคม แต่จริงๆ แล้วก็มีเข้ามาในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือทำงาน
…ประเมินสถานการณ์ตอนนี้ หากให้คำจำกัดความ ผมจะใช้คำว่า “รอเวลาอิ่มตัว” (Time to saturated concentration)
ถ้าระบบรับโหลดในการดำเนินการคัดกรองกักตัวจำนวนคนมากถึงระดับหนึ่งไม่ได้ จะเกิดปัญหาด้านมาตรฐาน
ถ้าจำนวนคนมากถึงระดับหนึ่ง จะเห็นปัญหาการหลุดรอดมากขึ้นหรือชัดเจนขึ้น
หากดูข้อมูลที่คาดไว้เดิม 100,000 คน น่าจะมีคนติดเชื้อราว 500 คน และมีโอกาสหลุดรอดได้ 9-65 คน ในขณะที่สถานการณ์จริงมีคนเข้ามาราว 100,000 คน ตรวจพบว่าติดเชื้อหกร้อยกว่าคน ส่วนจะหลุดรอดมากน้อยเพียงใด ไม่มีใครรู้ รู้เพียงแต่ว่าถัดจากการเปิดเฟส 5 และเฟส 6 ราว 6 สัปดาห์ เรามีรายงานพบเคสติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้หากดูเงื่อนเวลาเพื่อมาอธิบายความสัมพันธ์เชิง temporal relationship
ดังนั้นเงื่อนไขที่เราทุกคนพอจะทำได้ตอนนี้มีเพียงเรื่อง การรักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวเสมอ
หัวใจสำคัญคือ “การใส่หน้ากาก” และ “คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจ”
หากเกิดระบาดซ้ำ มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดไม่ทันตั้งตัว กระจายเร็ว คุมยาก ใช้เวลานานกว่าระลอกแรกราว 1.5-3 เท่า และจำนวนการติดเชื้อรายวันที่สูงสุดจะมากกว่าเดิมราว 1.3-2.6 เท่า…จะดีที่สุดหากเราช่วยป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นมา
COVID-19 ติดง่ายกว่าหวัดใหญ่ เป็นแล้วตายได้ ตายไปเกินล้านแล้ว
ไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน
ถึงรักษาแล้ว ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่จะมีอาการคงค้างต่อไปนาน เรียกว่า “Chronic COVID” หรือ “Long COVID” หรือ “COVID Long Hauler” ตอนนี้คาดว่าจะมีถึงหนึ่งในสามของผู้ติดเชื้อทั้งหมด บางทวีปอย่างยุโรปเคยมีคนประมาณไว้ว่าอาจถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ที่มา : Thira Woratanarat