ดร.สามารถแฉ!?ปมยื้อต่อสัมปทานสีเขียว ชี้แจง 8 รอบไม่พอ ปชช.เชื่อขัดแย้งผลประโยชน์นักการเมือง

1259

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เปิดสาเหตุปมขยายสัมปทานสายสีเขียวบีทีเอส (BTS)มาราธอน ทำให้กระทรวงมหาดไทยและกทม.ต้องกลับไปทำข้อชี้แจงเพิ่ม 8 ครั้ง ยังไม่จบ ! ทั้งที่ก่อนนี้เดือนสิงหาคมปี2563 กระทรวงคมนาคม เคยเห็นด้วยถึง 3 ครั้ง ขณะเดียวกันผลสำรวจซูเปอร์โพล เปิดเผยชัดว่าปชช.ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.7 เชื่อเกือบเป็นเอกฉันทฺ์ ปัญหาขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี เรื่องสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว น่าเคลือบแคลงสงสัย เป็นผลประโยชน์การเมืองระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัทเอกชน ดร.สามารถฯพาดหัวเรื่องลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวมีรายละเอียดดังนี้

ปมขยายสัมปทานสายสีเขียว

“ปุจฉา-วิสัชนา” มาราธอน 8 ครั้ง ยังไม่จบ !

เป็นข่าวเกรียวกราวกรณี “คมนาคม” ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นโครงการของ กทม. ในสังกัด “มหาดไทย” ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทำให้ ครม. ต้องให้ “มหาดไทย” กลับไปทำคำชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้ง หลังจากชี้แจงไปแล้ว 8 ครั้ง !

  1. ก่อน ส.ค. 2563 กระทรวงคมนาคม เคย “เห็นด้วย” 3 ครั้ง

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กระทรวงคมนาคมมีหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. ความว่า “เห็นสมควรที่จะนำเสนอ ครม. พิจารณาตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยและ กทม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 แล้ว ทั้งนี้ การให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เกิดผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ”

ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม 2563 และวันที่ 9 มิถุนายน 2563 กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึง เลขาธิการ ครม. ยืนยันตามความเห็นเดิมโดยไม่มีความเห็นเพิ่มเติม นั่นคือเห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยที่ขอให้พิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

  1. หลัง ส.ค. 2563 (พ.ย. 2563) กระทรวงคมนาคม กลับลำ “ไม่เห็นด้วย” !

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงคมนาคมกลับไม่ยืนยันความเห็นเดิม โดยมีความเห็นเพิ่มเติมหรือข้อสังเกต 4 ประเด็น ดังนี้

(1) ความครบถ้วนตามหลักการของ พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. 2562

(2) การคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ที่สมควรกำหนดให้ค่าโดยสารมีอัตราค่าบริการที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท

(3) การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

(4) ข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดจากกรณี กทม. ได้ทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถส่วนต่อขยายไปจนถึงปี พ.ศ. 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการ ปปช. จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจน

นับจากวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา มีการถาม-ตอบ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงมหาดไทย/กทม. จนถึงก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นจำนวน 8 ครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมจาก 4 ประเด็นเดิม เช่น (1) การโอนกรรมสิทธิ์จาก รฟม. ซึ่งเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต ไปให้ กทม. ยังไม่สมบูรณ์ (2) การใช้ระบบตั๋วร่วม (ตั๋วใบเดียว) และ (3) กรอบระยะเวลาในการเจรจาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานระหว่าง กทม. กับ BTS เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 เป็นต้น

กระทรวงมหาดไทย/ กทม. ได้มีหนังสือชี้แจงข้อสังเกตและส่งข้อมูลตามคำขอของกระทรวงคมนาคมครบทั้ง 8 ครั้ง

ล่าสุดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อนการประชุม ครม. ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงคมนาคมมีหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของ กทม. พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม เป็นผลให้ ครม. ต้องเลื่อนพิจารณาวาระนี้ออกไปก่อน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปทำคำชี้แจง เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าของเรื่องเพิ่งเห็นข้อสังเกตเพิ่มเติมของกระทรวงคมนาคมในวันประชุม

  1. มีอะไรเกิดขึ้นระหว่าง ส.ค. – พ.ย. 2563 ?

ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 รฟม. ในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้ BTS ซึ่งเป็นผู้ร่วมประมูลรายหนึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ? จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาเมื่อมีการล้มการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้ BTS ฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบอีกด้วย

BTS เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก และเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ด้วยเหตุนี้ การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงมีผลโดยตรงกับ BTS

จึงน่าคิดว่าการที่ BTS ฟ้องต่อศาลปกครองและศาลคดีอาญาคดีทุจริตฯ กรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและกรณีล้มการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกนั้น มีผลกระทบต่อการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ ?

  1. สรุป

เมื่อกระทรวงมหาดไทยทำคำชี้แจงครั้งที่ 9 เสนอต่อที่ประชุม ครม. หาก ครม. เห็นว่าคำชี้แจงครบถ้วน มีเหตุผลรับฟังได้ และเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ก็ควรถึงเวลาที่ ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสียที

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีที่อยากเห็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนขยายให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วยความสะดวก รวดเร็ว ราบรื่น แบบไร้รอยต่อด้วยราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งส่วนหลักและส่วนขยาย (ซึ่งเป็นโครงการของ รฟม. ในสังกัดกระทรวงคมนาคม) ที่ได้รับการขยายสัมปทานไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว