สุดปลื้ม!!ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘โนรา’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ลำดับ 3 ต่อจากโขนและนวดไทย

1853

การแสดงโนราหรือมโนราห์ ที่เป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่จากภาคใต้ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดยองค์การยูเนสโกอย่างเป็นทางการแล้ว ยังความปลาบปลื้มแก่คนไทยทั่วหน้า

 

เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2564 กระทรวงวัฒนธรรมแถลงว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้การแสดงโนราจากภาคใต้ของไทยเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” อย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธ ซึ่งน่าจะทำให้ศิลปะวัฒนธรรมจากภาคใต้ของไทยที่สืบทอดมานานหลายร้อยปีเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก

นายวิเชียร รัตนะบุโณ ประธานกลุ่มโนราประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า โนรามีความสำคัญต่อคนภาคใต้ใน 2 เหตุผลด้วยกัน หนึ่งคือ เพื่อความบันเทิง โนราถ่ายทอดคำสอนให้คนทำความดี เหตุผลที่สอง โนรายังเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและความเชื่อ โดยมโนราห์จะแสดงระหว่างพิธีที่แสดงความเคารพต่อครูบาอาจารย์และพ่อแม่ เพื่อแสดงความกตัญญู

ทั้งนี้โนรานับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยลำดับที่ 3 ต่อจากโขน (พ.ศ.2561) และ นวดไทย (พ.ศ.2562) ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโก 

“โนรา”(หรือ มโนรา มโนห์รา มโนราห์ – มีการเขียนกันหลายแบบ) เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

โนราเป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกคู่ เล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง

โนรามีองค์ประกอบสำคัญคือเครื่องแต่งกายอันสวยงาม และเครื่องดนตรี โดยผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ

ขณะที่ผู้เล่นโนรานั้นจะต้องมีความสามารถในศาสตร์และศิลป์แห่งโนรา ทั้ง การร่ายรำ ร้อง เล่น การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง แววตา และมีปฏิภาณไหวพริบในการแสดงการด้นสดที่ส่วนใหญ่จะเป็นมุขตลกเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม ซึ่งจำเป็นต้องฝึกฝนกันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

นอกจากนี้ก็ยังมีท่ารำตัวอ่อน หรือโนราตัวอ่อน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันน่าทึ่งของโนรา ซึ่งผู้รำที่ยังอยู่ในวัยเด็กสามารถรำตัวอ่อน ดัดตัว โค้งตัว เป็นท่าทางต่างๆได้อย่างสวยงาม บางคนสามารถดัดร่างกายให้เท้าไปเกี่ยวกับคอ สามารถดัดตัวโค้งอ่อนไปด้านหลังเป็นวงกลมให้ศีรษะโผล่ออกมาแนบอยู่ระหว่าง 2 ขา หรือบางคนก็สามารถขดตัวเป็นก้อนกลมให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในถาดหรือในกระด้งได้อย่างน่าทึ่ง เรียกเสียงปรบมือให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี

โนรานอกจากจะมีในภาคของศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริงใจแล้ว ก็ยังมีในภาคของพิธีกรรมคือ“โนราโรงครู”(หรือโนราลงครู) ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการโนรา อีกทั้งยังมีมิติทับซ้อนทางด้านวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา ของชาวใต้ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีที่ผูกพันกับโนราอย่างแนบแน่น

โนราโรงครู เป็นพิธีอัญเชิญครูหรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับการเซ่นสังเวยทำพิธีไหว้ครู อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูโนราและบรรพบุรุษ เมื่อเชื้อเชิญวิญญาณครูมาเข้าทรงหรือ“ลง”มายังโรงพิธี จึงเรียกพิธีนี้ว่า“โนราลงครู” หรือ“โนราโรงครู”

นอกจากนี้โนราโรงครูยังจัดขึ้นเพื่อ ทำพิธี“ครอบเทริด”หรือ“ผูกผ้าใหญ่”แก่โนรารุ่นใหม่ รวมถึงทำพิธีแก้บน หรือ “แก้เหมฺรฺย” สำหรับคนทั่วไปที่ได้บนบานศาลกล่าวไว้กับครูโนรา และทำพิธีอื่นๆ เช่น เหยียบเสน ตัดจุก สะเดาะเคราะห์ เป็นต้น

โนราโรงครูมี 2 ชนิด คือ “โนราโรงครูใหญ่” และ “โนราโรงครูเล็ก”

โนราโรงครูใหญ่ เป็นพิธีโรงครูที่จัดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบเป็นเวลา 3 วัน ในวันพุธ-ศุกร์ เริ่มตั้งแต่โนราเข้าโรงในวันพุธไปสิ้นสุดด้วยพิธีส่งครูหรือ“ตัดเหมฺรฺย”ในวันศุกร์ แต่ถ้าปีไหนวันพิธีส่งครูตรงกับวันพระ จะต้องเลื่อนพิธีส่งครูไปอีกหนึ่งวัน เพราะเชื่อว่าตายายจะต้องไปวัด มาร่วมพิธีส่งครูไม่ได้(อ้างอิงจากบทความ “โนราโรงครู พิธีกรรมผูกสายสัมพันธ์คนใต้” (น.91) นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 191) นอกจากนี้พิธีโนราโรงครูใหญ่ยังต้องจัดเป็นวาระประจำ เช่น ทุก ๆ ปี ทุก 3 ปี หรือ ทุก 5 ปี

ส่วนโนราโรงครูเล็ก เป็นพิธีโรงครูที่จัดในแบบฉบับย่อ เนื่องจากพิธีโนราโรงครูใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาเตรียมการนาน จึงย่อมาทำพิธีโนราโรงครูเล็กแทน ใช้เวลา 1 วัน 1 คืน ตั้งแต่ตอนเย็นวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี

อย่างไรก็ดีโนราโรงครูเล็กนั้นมีจุดมุ่งหมายและสาระสำคัญเช่นเดียวกับโนราโรงครูใหญ่ แต่ด้วยความที่เจ้าภาพไม่สามารถจัดพิธีโนราโรงครูใหญ่ได้ เนื่องจากติดปัญหาในบางประการจึงหันมาทำพิธีโนราโรงครูเล็กแทน

สำหรับ“ครู” ในวัฒนธรรมของโนรามี 2 ประเภท ได้แก่ “ครูหมอโนรา” คือบรรพบุรุษบูรพาจารย์ผู้ให้กำเนิดโนรา อาทิ ขุนศรีศรัทธา พระเทพสิงหร นางนวลทองสำลี แม่ศรีมาลา พรานบุญ ตาม่วงทอง เป็นต้น ส่วนครูโนราอีกประเภทหนึ่งคือ “ตายายโนรา” คือผีบรรพบุรุษผู้เคยมีตัวตนจริงๆและได้สอนวิชาการโนราให้แก่ลูกหลาน

ทั้งครูหมอโนราและตายายโนรา(บางพื้นที่เรียกรวมกันว่า“ตายายโนรา”) ในความรับรู้ของคนโนราและผู้ที่นับถือ เป็นสิ่งมองไม่เห็นที่มีพลังอำนาจมาก สามารถให้คุณให้โทษแก่ลูกหลานโนราและเทือกเถาเหล่ากอ หากลูกหลานทำดีประพฤติดี ก็จะบันดาลให้พบแต่สิ่งดีๆมีความเจริญก้าวหน้า แต่หากประพฤติไม่ดี ทำสิ่งผิดศีลธรรม ก็จะบันดาลให้ประสบกับสิ่งไม่ดี ประสบโชคร้ายต่างๆ

ส่วนลูกหลานโนราคนไหนถ้าตายายโนราเลือกเป็นผู้สืบทอดให้เป็นโนราหรือร่างทรง ก็จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง เช่น เมื่อได้ยินเสียงปี่กลองโนราจะไม่สามารถห้ามตัวเองได้ต้องลุกขึ้นมาร่ายรำ หรือไม่ก็มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ แพทย์ปัจจุบันรักษาไม่ได้ ต้องเป็นโนราหรือเป็นร่างทรงจึงจะหาย

เรื่องเหล่านี้คนในวงการโนราหรือคนที่สืบเชื้อสายโนราจะเชื่อถือกันเป็นพิเศษ ส่วนคนทั่วไปที่อยู่วงนอกนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน ซึ่งเรื่องราวบางอย่างที่ผมเคยเห็น และอีกหลายๆเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังจากคนโนรามา บางสิ่งบางอย่างยังคงไม่สามารถหาสาเหตุและพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์