วอชิงตัน’คลั่ง’ ??แบนบ.ไฮเทคจีนนับสิบอ้างภัยมั่นคง จีนสวนทุ่มหินใส่เท้าตัวเอง

1238

รัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มรายชื่อบริษัทไฮเทคจีนอีกไม่ต่ำกว่าโหลในบัญชีดำทางการค้า ชี้เป็นภัยความมั่นคงสหรัฐฯและเป็นความวิตกทางนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุมีบางบริษัทช่วยกองทัพจีนสร้างโปรแกรมควอนตัมคอมพิวเตอร์ ด้านจีนโต้กลับประณามการตัดสินใจของสหรัฐว่าเป็นการทุ่มหินใส่เท้าตัวเอง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจะสะท้อนกลับมายังสหรัฐเอง

วันที่ 25 พ.ย 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากวอชิงตันเกิดขึ้นระหว่างความตรึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯที่มีต่อสถานภาพของไต้หวันและปัญหาอื่นๆ

จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่า“การค้าและการพาณิชย์ทั่วโลกควรสนับสนุนสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และงานที่มีรายได้ดี ไม่ใช่ความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติ” “กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นที่จะใช้การควบคุมการส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติของเรา”

การเพิ่มบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์ กับบริษัทของจีน ได้แก่ บริษัทควอนตัมคอมพิวเตอร์ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ และธุรกิจจีนที่มีส่วนร่วมใน กิจกรรมนิวเคลียร์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองของปากีสถาน เป็นต้น

บริษัทไฮเทคจีนที่ถูกเพิ่มเข้าบัญชีดำที่เรียกว่า “Entity List” เกิดขึ้นจากการที่บริษัทเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือกองทัพจีนในการสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์และจัดหาหรือช่วยเหลือในการจัดหาเทคโนโลยีชิ้นส่วนจากสหรัฐฯเพื่อกิจการทางการทหารของจีน

บัญชีดำทางการค้าที่ว่านี้ถูกเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเหตุผลทางความมั่นคงของชาติ

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯยังประกาศว่าบุคคลและนิติบุคคลอีก 16 รายชื่อที่ปฎิบัติการอยู่ในจีนและปากีสถานถูกสั่งขึ้นบัญชีดำเนื่องมาจากความเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวด้านนิวเคลียร์ที่ไม่มีความปลอดภัยของอิสลามาบัดหรือโครงการมิสไซล์ของปากีสถาน

โดยทั้งหมดพบว่าวอชิงตันขึ้นบัญชีดำทั้งหมด 27 รายชื่อจากจีน ญี่ปุ่น ปากีสถาน และสิงคโปร์

นอกจากนี้สถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีของมอสโกถูกเพิ่มชื่อในบัญชีผู้ใช้ที่เรียกว่า “end user list” ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อสำหรับผู้ที่ผลิตยุทโธปกรณ์ทางการทหาร

การประกาศเพิ่มรายชื่อบัญชีดำจะช่วยปกป้องเทคโนโลยีสหรัฐฯไม่ให้หลุดรอดเข้าไปเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางการทหารให้แก่ทั้งรัสเซียและจีนที่ถือว่าเป็นรัฐฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐฯ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวที่สร้างความวิตกกังวลให้กับวอชิงตันเป็นต้นว่า โครงการมิสไซล์หรือโครงการนิวเคลียร์ที่ไม่มีความปลอดภัยของปากีสถานเป็นต้น

ซึ่งหลังจากบริษัทต่างชาติที่ถูกขึ้นบัญชีดำแล้วแต่นี้ต่อไปหากมีการส่งออกทางเทคโนโลยีให้จำเป็นที่ต้องขอใบอนุญาตเพื่อการส่งออกเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน หัวเว่ย เมื่อปี 2019 และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหัวเว่ยทำให้เกิดปัญหากับบริษัทจีนในการผลิตโทรศัพท์มือถือ

ด้านจีนประณามการตัดสินใจของสหรัฐฯทันที โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวละเมิดความเข้าใจระหว่างผู้นำสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกและทำลายห่วงโซอุปทานโลกซึ่งสหรัฐก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยในที่สุด

โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ชู จูเต็ง กล่าวในการแถลงข่าวในกรุงปักกิ่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย.ว่า“กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่รายการคว่ำบาตรใหม่ไม่สอดคล้องกับฉันทามติที่ตกลงกันโดยผู้นำจีนและสหรัฐฯ” เธอกล่าวเสริมว่า “มันเป็นอันตรายต่อทั้งสองประเทศ ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบก็จะย้อนกลับมาหาสหรัฐเองด้วย”

จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ปักกิ่งสงวนสิทธิ์ในการ ดำเนินมาตรการตอบโต้ที่จำเป็นต่อสหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของไบเดนแก้ไขความผิดพลาดในทันที จ้าวกล่าวว่า “สหรัฐฯ ยืดแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า และใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบเพื่อกดขี่บริษัทจีน”

ไป่ หมิง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยตลาดระหว่างประเทศของสถาบันจีนแห่งการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จำเป็นต้องมีการประสานงานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศต่างๆ และแนวปฏิบัติของสหรัฐฯ ในการตัด นอกห่วงโซ่อุตสาหกรรมจะส่งผลย้อนกลับต่อเศรษฐกิจของตัวเอง และทำให้บริษัทในสหรัฐฯ สูญเสียตลาดใหญ่ของจีน  หมิงกล่าวว่า“การคว่ำบาตรครั้งใหม่เป็นแนวปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้นเพื่อจำกัดวิสาหกิจไฮเทคของจีน จีนจะไม่ถูกปราบปรามอย่างง่ายดาย แต่จะพัฒนาวงจรรวมของตนเอง ในอีกไม่กี่ปี สหรัฐฯ จะเสียใจอย่างแน่นอนกับการกระทำในปัจจุบันของตน”