สหรัฐฯ แจ้งเตือนสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นที่ชายแดนยูเครนบ่อยอย่างผิดปกติ ทำชาวโลกตื่นตระหนกว่า พื้นที่ยุโรปตะวันออกนี้จะกลายเป็นจุดวาบไฟสงครามในย่านนี้ คล้ายกับที่ไต้หวันเป็นจุดวาบไฟในย่านทะเลจีนใต้หรือไม่? ข้อเท็จจริงจากการเคลื่อนไหว ทั้งฝ่ายสหรัฐ นาโต และรัสเซียบ่งบอกที่มาที่ไปของประเด็นร้อนที่วันนี้ลุกลามไปทั่ว สหรัฐแถลงข่าววิตกมากว่ารัสเซียจะบุกโดยมีสื่อตะวันตกโหมกระแสอย่างต่อเนื่องนับสัปดาห์ ขณะที่ปธน.ปูตินและทางการรัสเซียออกข่าวตอบโต้ตลอดเวลาว่า ไม่เคยอยู่ในแผนการ แต่สหรัฐต่างหากที่เป็นฝ่ายยั่วยุและหนุนยูเครนเคลื่อนไหวรุกคืบใกล้ชายแดนรัสเซียขายอาวุธร้ายแรงจำนวนมากให้ยูเครน และมีความเป็นไปได้ที่จะบุกดินแดนไครเมียอีกด้วย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 24 พ.ย.64 อ้างถ้อยแถลงของ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน ออกคำเตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปไครเมีย รวมทั้งเมืองโดเนสต์ (Donetsk) และเมืองลูฮันส์ (Luhansk) ทาง ตอ.ของยูเครน เนื่องจากพบกิจกรรมทางทหารที่ผิดปกติของรัสเซียในบริเวณชายแดนยูเครน และคาบสมุทรไครเมียที่ถูกรัสเซียผนวกเมื่อปี 2557
นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนอยู่ระหว่าง การฝึกทางทหารในข่วงเวลาเดียวกัน โดยรัสเซียจัดการฝึกทางทะเลในทะเลดำ ส่วนยูเครนฝึกการปฏิบัติการพิเศษบริเวณชายแดนที่ติดกับเบลารุสร่วมกับสหรัฐและตะวันตก อนึ่ง พันเอกคิริลล์ บูดานอฟ (Kyrylo Budanov) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองทหารของยูเครน ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2564 รัสเซียมีทหารมากกว่า 92,000 นาย บริเวณชายแดนยูเครน และอาจโจมตียูเครนอย่างเร็วที่สุดในปลาย ม.ค.2565
มาดูฝั่งรัสเซียกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไร
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าวว่า สหรัฐและตะวันตกกำลัง “ยกระดับ” ความขัดแย้งในยูเครน โดยการซ้อมรบในทะเลดำและส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเฉียดใกล้พรมแดนรัสเซียบ่อยผิดปกติขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหามอสโกว่ามีส่งกองกำลังทหารประจำการชายแดนติดยูเครน
นิโคไลย พาทรูเชฟ (Nikolay Patrushev) หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงของรัสเซียกล่าวเตือนว่าการแทรกแซงของสหรัฐและตะวันตกจะทำลายเศรษฐกิจของยูเครนในที่สุด
เขายืนยันว่า“ตะวันตกควรละทิ้งนโยบายที่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น จากการยัดเยียดความเชื่อของตนด้วยการใช้กำลังทหารที่ดุร้าย”
“การก่อตั้งกองกำลังต่างชาติเพื่ออารักขาในยูเครน โดยสหรัฐและตะวันตก ได้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศนี้ ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และทำให้ประชากรบางส่วนเข้าสู่ความยากจน เมื่อกระตุ้นยูเครนให้เกิดสงครามได้ ดังนั้นพลเมืองหลายล้านคนต่างหวาดหวั่นจึงหนีไปลี้ภัยที่อื่น และก็เป็นที่มาของวิกฤตผู้อพยพในยุโรปและชายแดนเบลารุส-โปแลนด์”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เดนิส โมนาสตีร์สกี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของยูเครน กล่าวว่า ประเทศต้องการเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อสร้างกำแพงพรมแดนกับรัสเซียและเบลารุสที่อยู่ใกล้เคียง
สื่อตะวันตกจำนวนหนึ่งได้ตีพิมพ์ข้อกล่าวหาว่ามอสโกว์กำลังวางแผนบุกยูเครน รวมถึงมีข่าวลือว่ากองทหารรัสเซียกำลังรวมพลที่ชายแดน ซึ่งเครมลินได้ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ท่ามกลางวิกฤต ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ อ้างว่าการกระทำของรัสเซียและพันธมิตรในเบลารุสเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจาก “กิจกรรมทางทหารของรัสเซียที่ติดกับยูเครน” หลังจากนั้นได้ส่งอาวุธร้ายแรงจำนวนมากเข้าประจำการในยูเครน
ขณะเดียวกัน นาโตได้จัดประชุมสุดยอดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์นี้และพิจารณาประเด็นรับมือกับอิทธิพลของรัสเซีย โดยสนับสนุนการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐเพิ่มในดินแดนยุโรป ประเด็นร้อนนี้ยังอยู่ในระหว่างการถกเถียง
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) สรุปเอาไว้ในขณะร่วมแถลงข่าวกับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสที่กรุงปารีส เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการอ้างถึงความเคลื่อนไหวขององค์กรร่วมมือทางทหารอย่าง “นาโต” เป็นไปในลักษณะ “ก้าวร้าว” ต่อรัสเซียยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าการส่งกำลังทหารเข้าไปป้วนเปี้ยนแถบทะเลดำ บ่อยครั้งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งการแสดงท่าทีความเป็นปฏิปักษ์ในลักษณะต่างๆทุกครั้งที่นาโตขยับ
ดังนั้นสิ่งที่รัสเซียจำเป็นต้องตอบสนองต่อท่าทีเหล่านี้ ก็คือมาตรการตอบโต้ในแบบ แรงมาก็แรงไป หรือที่ลาฟรอฟเรียกว่า รีซิโปรคัลแมนเนอร์ “Reciprocal Manner” อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น