ปิดม่านประชุมAPEC 2021!?!เปิดคำมั่นผู้นำโลก ลุ้นปีหน้าไบเดน-สี-ปูตินเยือนไทยเจ้าภาพ

2013

นายกรัฐมนตรีฯร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งการเป็นเจ้าภาพเอเปค ประกาศแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” พร้อมต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจทุกคนในปี 2565 ขณะที่ผู้นำสำคัญของโลกได้ให้คำมั่นสนับสนุนการร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระบาดและเดินหน้าเศรษฐกิจไปด้วยกัน 

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมพิธีส่งมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปค โดยนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เป็นผู้ส่งมอบและนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นผู้รับมอบ นายธนะกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสาระสำคัญของพิธีว่า

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพของนิวซีแลนด์ คือร่วมกัน ทำงาน เติบโต ไปด้วยกัน (Join, Work, Grow. Together.) ซึ่งหัวข้อหลักนี้ตั้งอยู่หลักของความเป็นหนึ่งใจเดียวกัน และการทำงานเป็นทีม ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสุภาษิตเมารี ชาวเมารีในชุมชนร่วมกันสร้างเรือเดินสมุทรที่ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าวากา (waka) หรือ เรือแคนู เช่นเดียวกับการสร้างความรุ่งเรืองในเอเปคทุกเขตเศรษฐกิจต้องทำงานร่วมกันเพื่อก้าวไปข้างหน้า นิวซีแลนด์ขอบคุณที่ได้มีส่วนในการสนับสนุนเอเปคด้วยการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ค.ศ. 2564 และในนิวซีแลนด์ได้ส่งมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ค.ศ. 2022 ให้ประเทศไทย เชื่อมั่นว่าไทยจะขับเคลื่อนเรือแคนูเอเปคของเราด้วยความกระตือรือร้น ความสร้างสรรค์ และความเฉลียวฉลาด และได้ส่งมอบไม้พายให้นายกรัฐมนตรีไทยในตอนท้าย 

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง ทีมเอเปคนิวซีแลนด์ที่นำพาทุกคนร่วมการเดินทางเพื่อฟื้นฟูและฟื้นคืนได้เป็นอย่างดี  

นายกฯกล่าวว่า “ผมขอขอบคุณที่ท่านได้ส่งมอบไม้พาย ‘waka’ ให้ประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเรือเอเปคต่อไป ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคประจำปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ขอยืนยันว่าจะสานต่อการร่วมกัน ทำงาน และเติบโตไปด้วยกัน และนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวน ผู้นำเขตเศรษฐกิจทุกคน ร่วมกัน ‘สาน’ ความเข้มแข็ง และความมุ่งมั่น ในการบรรลุความตั้งใจที่จะสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่ เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข เพื่อคนรุ่นหลัง 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวคิดหลักการประชุมเอเปคประจำปี 2565 “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อเปิดกว้างสำหรับทุกโอกาส เชื่อมโยงในทุกมิติ และสมดุลในทุกด้าน และยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมต้อนรับครอบครัวเอเปคและแขกผู้มาเยือนสู่ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

การประชุมครั้งนี้ผู้นำคนสำคัญจากหลายส่วนของโลกได้ให้คำมั่นสัญญาในการร่วมกันคลี่คลายการระบาดโควิด-19และพัฒนาเศรษฐกิจไปด้วยกัน

โดยในที่ประชุมผู้นำเอเปค IMF ได้ยืนยันการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง คือกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกับนโยบายของไทย ที่เร่งฉีดวัคซีน ซึ่งจะถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ ย้ำพร้อมร่วมรับมือกับความท้าทายของศตวรรษนี้ ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล และการต่อสู้กับคอรัปชั่น โดยสหรัฐฯได้บริจาควัคซีน 64 ล้านโดสกับเอเปค และจะบริจาคเพิ่มต่อไป พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถทางวัคซีน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตโรคระบาด สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนของ World Bank การดูแลกลุ่มเปราะบาง การค้า การลงทุนที่เปิดกว้าง เสรี เป็นธรรม มุ่งใช้ดิจิทัลพลิกโฉมเศรษฐกิจโลก รวมทั่งความมั่นคงทางไซเบอร์ 

โดยให้ความสำคัญกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืน เพื่อหวังสร้างงาน 30 ล้านอัตราเมื่อสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว 

ปธน กล่าวสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทยในปี 65 นี้และตั้งตารอที่จะได้เจอกันในปีหน้า

 

ปธน.สี จิ้นผิงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยืนยันร่วมสร้างอนาคตและผลประโยชน์ร่วมกัน พร้อมร่วมกันรับมือกับโวิด 19 ด้วยการพัฒนาและวิจัยวัคซีน จีนได้มอบวัคซีน 2.2 พันล้านโดสแก่ประเทศต่างๆ และ 1.7 ล้านโดสแก่ที่ประชุม G20 นอกจากนี้เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับประเทศกำลังพัฒนา จีนจะช่วยเงินจำนวน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

จีนย้ำการใช้กลไกพหุภาคีผ่านกลไกการค้าโลก เปิดเข้าร่วมการเจรจา CPTPP รวมทั้งตั้งเป้าในปี 2060 จะเป็นกลางทางคาร์บอน ลดกาซเรือนกระจก จีนจะเปิดกว้างมากขึ้น พร้อมแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จกับสมาชิกและประเทศต่างๆ เน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี  พัฒนาโครงสร้างดิจิทัลไปพร้อมกัน

 

ปธน.วลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย สนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก และการยอมรับร่วมกันของวัคซีนและใบรับรองวัคซีน ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคระบาด และทำให้การท่องเที่ยวและธุรกิจทั่วโลกฟื้นตัวเร็วขึ้น

นอกจากนี้ปูตินยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือทางดิจิทัลระหว่างสมาชิกเอเปก ซึ่งรวมถึงภายในขอบเขตของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ 

ปธนมุน แจอินแห่งเกาหลีใต้ เสนอ 3 แนวทางคือ 1. การเร่งฟื้นฟูสู่ภาวะปกติ ต้องทำงานร่วมกัน และมีความเท่าเทียมในก่รเข้าถึงวัคซีน 2. การค้าเสรี และเปิดกว้างเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยใช้กลไกพหุภาคี 3. โอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ยังย้ำถึงการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ การลดคาร์บอน กาซเรือนกระจก และช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มเปราะบาง เกาหลีใต้จะยกระดับ Green New Deal ด้วย 

ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ (20 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ) ประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น รวมทั้งสมาชิกอาเซียน และประเทศในอเมริกาเหนือและใต้