แค้นฝังลึก??อิหร่านประณามสหรัฐฯ ตลอด 4 ทศวรรษก่อสงคราม 40 ครั้งใน 40 ภูมิภาค

1229

หัวหน้าหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ประณามนโยบายของสหรัฐฯในวันครบรอบ42 ปีการยึดสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน  ซึ่งอิหร่านจะจัดรำลึกการบุกสถานทูตสหรัฐว่า เป็นการบุกถ้ำสายลับเมื่อ 42 ปีที่แล้ว เป็นสัญญลักษณ์แห่งความกล้าหาญของนักศึกษาติดอาวุธหลายร้อยคน ที่สนับสนุนการปฏิวัติอิหร่านบุกเข้าไปในสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงเตหะราน เพื่อตอบโต้สหรัฐหนุนฝ่ายตรงข้ามรุกรานอิหร่านไม่เลิก ด้านสหรัฐและฝั่งตะวันตกจะถือเป็นวันร้าย วันวิกฤตตัวประกัน  ตั้งแต่นั้นมาอิหร่านก็ฉลองวันนี้ว่าเป็นวันแห่งชัยชนะเหนือสหรัฐฯ และเป็น “การปฏิวัติครั้งที่สอง”หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศ

วันที่ 5 พ.ย.2564 สำนักข่าวสปุ๊ตนิค-รัสเซีย และสื่อท้องถิ่นอิหร่าน รายงานว่า พลตรี ฮุสเซน ซาลามี (Hossein Salami) หัวหน้าหน่วยพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) ได้ประณามนโยบายทั่วโลกของสหรัฐฯ โดยกล่าวว่าวอชิงตันเริ่มทำสงครามใหญ่ 40 ครั้งใน 40 ภูมิภาคทั่วโลกอย่างไม่หยุดหย่อนในวันครบรอบ 42 ปีของการยึดสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงเตหะราน .วันนี้ ชาวอิหร่านนับพันคนกำลังจัดการเดินขบวนทั่วประเทศ เพื่อรำลึกถึงการบุกโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะรานในปี 1979 โดยตะโกนว่า “โค่นล้มสหรัฐฯ” “โค่นล้มอิสราเอล”

ซาลามีกล่าวเพิ่มเติมว่าสหรัฐฯ มีความผิดในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศอธิปไตยอื่น ๆ กว่า 200 ครั้ง ในรูปแบบของรัฐประหาร การคว่ำบาตร และการรุกรานทางทหาร หัวหน้ากองกำลังพิทักษ์ฯ สรุปบทบาทของสหรัฐฯในสุนทรพจน์ของเขาที่งานฉลองวันครบรอบวิกฤตตัวประกันในเตหะรานว่า“สหรัฐคือโรงงานผลิตเผด็จการทั่วโลกอย่างแท้จริง ในคราบของประชาธิปไตย”  

 

นายพลชาวอิหร่านกล่าวต่อไปว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่การยึดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงเตหะราน พ.ศ. 2522  สหรัฐฯยังคงพยายามบ่อนทำลายรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เมื่อเราเข้มแข็งขึ้น ซาลามีอ้างว่าสิ่งนี้ส่งผลให้สาธารณรัฐอิสลาม จำเป็นต้องขัดขวางวอชิงตันจากการครอบครองโลกอิสลาม และนั่นเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น

ผู้นำกองทัพกล่าวว่า “วันนี้เราไม่เห็นสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของการเมืองระดับภูมิภาคอีกต่อไป และพันธมิตรของสหรัฐฯในภูมิภาค ได้สูญเสียความเชื่อมั่นในนโยบายของสหรัฐเพิ่มมากขึ้น”

นายพลยังคงชื่นชมสัญญาณล่าสุดของความแข็งแกร่งของอิหร่าน นั่นคือความสำเร็จในการป้องกันการยึดน้ำมันอิหร่านโดยเรือพิฆาตสหรัฐในอ่าวโอมาน 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.254 สื่ออิหร่านรายงานว่าเรือรบของสหรัฐฯ รี่เข้าใส่เรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่าน และบังคับให้ต้องขนถ่ายน้ำมันดิบไปยังเรืออีกลำที่แล่นภายใต้ธงโซธิส (Sothys) ของเวียดนาม

กองทัพเรืออิหร่าน ได้ไล่ตามเรือบรรทุกน้ำมันโซธิส และเรือรบสหรัฐฯที่อ้างว่าคุ้มกัน กองกำลังอิหร่านขึ้นเรือโซธิสและบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางไปยังน่านน้ำอิหร่าน ซึ่งมีรายงานว่าได้ขนถ่ายน้ำมัน 700,000 บาร์เรลซึ่งถูกกล่าวหาว่าขโมยมาจากเรืออิหร่าน จากข้อมูลของเตหะราน เรือพิฆาตและเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ พยายามขัดขวางการส่งน้ำมันดิบกลับอิหร่านไม่สำเร็จ

เพนตากอนโต้แย้งรายงานของสื่ออิหร่าน โดยอ้างว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม และสหรัฐฯ ไม่เคยยึดน้ำมันอิหร่าน โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังยืนกรานว่าเรือรบสหรัฐฯ เป็นเพียงการเฝ้าติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าทำไมเรือพิฆาตชั้นอาร์เลจเบิร์ก (Arleigh Burke) ลำหนึ่งของกองเรือจึงแล่นเข้าประกบเรือโซธิส และวีดีโอที่เผยแพร่สู่โลกโซเชียลก็ไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษกกลาโหมสหรัฐอ้าง 

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านดำเนินต่อเนื่องมายาวนานและไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง มีแต่นับวันจะดุเดือดเข้มข้นขึ้น ทั้งสองประเทศได้ยุติความสัมพันธ์ทางการฑูตในปี 1979 เมื่อนักศึกษาอิหร่านเข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตตัวประกันที่กินเวลานานกว่าหนึ่งปี เป็นเวลา 444 วัน พลเมืองอเมริกัน 52 คนถูกกักขังในสถานทูตสหรัฐฯ เหตุการณ์คลี่คลาย ตัวประกันถูกปล่อยตัวหลังการเจรจาต่อเนื่องนับปี

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1979 หรือพ.ศ. 2522 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ในขณะนั้นได้ลงนามในคำสั่งของผู้บริหารให้ยึดทรัพย์สินของรัฐบาลอิหร่านทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา และเริ่มดำเนินการคว่ำบาตรอิหร่านทุกด้าน

และนับแต่นั้นมาการต่อสู้ขับเคี่ยวกันทั้งทางการทูตและการทหาร เป็นไปอย่างไม่มีการประนีประนอม  มีความพยายามลอบสังหารผู้นำอิหร่านต่อเนื่อง และล่าสุดสามารถลอบสังหารโหด ผู้นำกองทัพนายพลคอเซ็ม สุไลมานีสำเร็จในสมัยอดีต ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้อิหร่านปักธงแดงบนมัสยิดแห่งชาติ เป็นสัญญลักษณ์ของความแค้นที่รอวันชำระมาจนทุกวันนี้