พันธมิตรให้ความก้าวหน้า!!จีนหนุนงบฯก.อุดมศึกษาฯกว่า 76 ล้านบาท ลุย 7 โครงการ

1087

ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่สมาชิกมีความเชื่อมโยงผ่านแม่น้ำสายเดียวกัน เชื่อมเศรษฐกิจข้ามพรมแดนถึง 6 ประเทศ โดยช่วงที่ไหลผ่านมณฑลยูนนานของจีน จะคุ้นเคยกันในชื่อ “หลานชาง” หรือ “ล้านช้าง” เมื่อไหลผ่านลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา ก่อนสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม จะคุ้นเคยกันในชื่อ “แม่โขง” ความร่วมมือนี้พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 ต่อมาได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2564 (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Mekong – Lancang Cooperation Special Fund 2021) ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ 5 ปี 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะนำไปสู่การสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปันเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่งคั่งในอนาคตต่อสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง สำหรับในปี 2564 ไทยได้รับการอนุมัติสนับสนุนเงินงบประมาณภายใต้ร่างบันความเข้าใจจำนวน 7 โครงการ รวมเป็นเงิน 2,396,800 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยประมาณ 76 ล้านบาท ดังนี้

1.โครงการแนวทางใหม่เพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง วงเงิน 420,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2.โครงการควบคุมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหารด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่ วงเงิน 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3.โครงการยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาค แม่โขง – ล้านช้าง ครบวงจรและการสำรวจสุขภาพของแมลงผสมเกสร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร วงเงิน 416,100 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4.โครงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มมูลค่า โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อความมั่นคง และความยั่งยืน วงเงิน 339,200 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

5.โครงการระบบจัดการฐานข้อมูลดิจิทัลด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง สำหรับหนุนเสริมการค้า ข้ามพรมแดน วงเงิน 157,600 ดอลลาร์สหรัฐ โดย มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น

6.โครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสุขภาพที่ให้การดูแล ด้านมารดาทารกกับชนกลุ่มน้อยใน สปป. ลาว และเวียดนาม วงเงิน 184,900 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมหาวิทยาลัยบูรพา

7.โครงการพัฒนาระบบติดตามและประเมินปริมาณผลผลิต พืชเศรษฐกิจในกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ วงเงิน 479,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ