แฉความย้อนแย้ง เนติวิทย์ ค้านย้ายศาลเจ้าแม่ฯ แต่หนุนยกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยว

1550

จากที่เฟซบุ๊ก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ซึ่งมี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) นั้น

โดยมีการโพสต์แถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ และทางสังคม เกี่ยวกับพฤติการณ์นี้ ที่มีเนื่อหาบางส่วนระบุว่า

“กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยรูปแบบของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้นจำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก ในกิจกรรมดังกล่าวจะมี “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ถือ “พระเกี้ยว” ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา ที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง พร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง

จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป”

กระนั้นเมื่อทีมข่าวเดอะทรูธ ย้อนดูถึงพฤติกรรมของนายเนติวิทย์ ก็พบว่ามีบางอย่างที่น่าสงสัยบนการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนจะย้อนแย้งอย่างยิ่ง

26 กันยายน 2563 นายเนติวิทย์ ทวีตข้อความ Netiwit Chotiphatphaisal @NetiwitC ระบุว่า เสาหักแห่งแผ่นดิน จะเรียกค่าเสียหายสี่พันล้าน กับศาลเจ้าแม่ทับทิม ต่ำตมอย่างสุดๆ

ทั้งนี้ นายเนติวิทย์ ได้แชร์ข้อความที่เผยแพร่ในโซเชียลว่า จุฬาฯสั่งฟ้องครอบครัวที่ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมเรียบร้อยแล้ว ในเมื่อเราไม่ยอมย้ายและไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมจากจุฬาฯ เลยต้องเรียกค่าเสียหายถึงสี่พันล้านบาทแล้วก็ฟ้องแบบนี้สินะ นิสิตจุฬาฯช่วยกันปกป้องชุมชนเถอะ #save ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน นายเนติวิทย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า จุฬาฯส่งหนังสือไปถึงศาลเจ้าแม่ทับทิมขู่ฟ้องถ้ายังยืนยันไม่ย้ายออกเป็นจำนวนรวมมากกว่า 4,600 ล้านบาท ช่างตลกสิ้นดีและสิ้นคิดมาก ผมขอให้มหาลัยทบทวนการกระทำที่ทำลายเกียรติมหาลัยนี้ อย่ารังแกชาวบ้าน อย่ารังแกวัฒนธรรมชุมชน ไม่สมควรเลย

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม ขอให้ย้ายออกจากพื้นที่จุฬาฯ ทางจุฬาฯต้องการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม เพิ่มศรัทธาส่งเสริมคุณค่าให้แก่เจ้าแม่ทับทิม ด้วยการอนุรักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่อย่างสมเกียรติเพื่อความเป็นสิริมงคลคู่ชุมชนสืบต่อไป โดยคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ได้ประมาณเดือนธันวาคม 2563

15 มิถุนายน 2563 ทวิตเตอร์ ข่าวสด@KhaosodOnline ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รณรงค์คัดค้านสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เตรียมรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง อายุกว่า 100 ปี เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมแทน #ศาลเจ้าแม่ทับทิม #ทรัพย์สินจุฬาฯ

อย่างไรก็ตามทีมเดอะทรูธ พบว่า การอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี ในขบวนพาเหรดในพิธีเปิด งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ทุกปีนั้น ส่วนหนึ่งในขบวนที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ก็คือ ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และตราธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งสองสถาบัน ซึ่งในแต่ละปีแต่ละสถาบันจะจัดขบวนอัญเชิญได้สวยงามไม่แพ้กัน

สำหรับการอัญเชิญตราสัญลักษณ์ เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

การอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขันนั้นเหมือนเป็นการเปิดงาน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเปรียบดังทุกสิ่งที่เป็นสถานศึกษาแห่งนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอัญเชิญเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า “สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ”