“อัษฎางค์” ฉะเดือด ชี้องค์การนิสิตจุฬาใส่ร้ายพระเกี้ยว ผู้บริหาร-คณาจารย์ ทนนิ่งเฉยได้อย่างไร?

1379

หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ซึ่งมีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้โพสต์แถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์


ล่าสุดทางด้านนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” ระบุว่า เรื่อง พระเกี้ยว (ตอนที่ 3)

“5 เรื่องราวของรัชกาลที่ 5” ผู้เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียเทียบเคียงยุโรป” ตอนเนื่อง โดยช่วงหนึ่งระบุว่า 5.รัชกาลที่ 5 คือสัญลักษณ์แห่ง”ความเท่าเทียมกัน” การเลิกไพร่และเลิกทาสเป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง”สิทธิมนุษยชน ที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน” ในสมัยโบราณ ประชาชนทุกคนถ้าไม่เป็นทาส ก็ต้องเป็นไพร่ที่มีสังกัดเจ้านายไปตลอดชีวิต และไพร่รับราชการโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ส่วนทาสนั้นยิ่งหนักหนากว่าไพร่ เพราะทาสสามารถซื้อขายกันได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นั้น ประมาณว่าไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ ถ้านึกภาพไม่ไพร่และทาสไม่ออก ให้นึกภาพพนักงานที่ทำงานราชการหรือเอกชนทุกคนในปัจจุบัน ในอดีตถ้าไม่เป็นไพร่ก็เป็นทาส ที่ทำงานโดยไม่ได้รับผลตอบแทน โดยเฉพาะทาสที่ไม่มีอิสรภาพ แล้วลองจินตนาการดูว่า การที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 จะประกาศให้เลิกไพร่และเลิกทาส เป็นความเสียสละอย่างใหญ่หลวง เพราะคือความเสี่ยงต่อความมั่นคงและปลอดภัยของราชบัลลังก์และพระชนม์ชีพของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่จะเกิดจากการผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ ซึ่งก็คือเจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย

อาจจะก่อจลาจลหรือสงครามกลางเมืองเหมือนสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนในประเทศรบราฆ่าฟันกันเอง แต่พระองค์คำนึง เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันของประชาชนของพระองค์เป็นหลัก มากกว่าราชบัลลังก์และพระชนม์ชีพ และด้วยพระปรีชาสามารถทำให้การเลิกไพร่และเลิกทาสในเมืองไทยที่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำเร็จลงด้วยเรียบร้อยไร้สงครามกลางเมืองที่คนในชาติเข่นฆ่าฟันกันเหมือนในต่างประเทศ

“การที่องค์การนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บิดเบือนข้อเท็จจริงและใส่ร้ายว่า พระเกี้ยว อันเป็นเครื่องหมายแทนในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการใส่ร้าย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ว่า เป็นความล้าหลัง การกดขี่ของชนชั้นปกครอง และความไม่เสมอภาคของความเป็นมนุษย์ เป็นการใส่ร้ายและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างเหิมเกริมและจงใจ ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่า นิ่งเฉยหรือยอมรับการกระทำดังกล่าวอยู่ได้อย่างไร มีผู้หลักผู้ใหญ่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่เบื้องหลังหรือให้ท้ายนิสิตในองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทำการดังกล่าว หรือไม่”