นักลงทุนระส่ำ?? เฟดเตรียมลดซื้อพันธบัตรUS เตือนเงินเฟ้อกดไม่ลง

1197

ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED เผยการประชุมเดือน ก.ย.เมื่อคืนนี้ว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือที่เรียกว่า QE ช่วงกลางเดือน พ.ย. หรือกลางเดือน ธ.ค.นี้ หลังมองว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวเป็นวงกว้างแล้ว ทำนักลงทุนวิตกแม้มีข่าวการประนีประนอม ระหว่างสองพรรคใหญ่ในสภาคองเกรส ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ให้ทันเส้นตายชำระหนี้ แต่กำหนดจำนวนน้อยกว่าที่รัฐบาลขอ รวมทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้กู้มาใช้แค่ 2 เดือน ต้นธันวาคมต้องมาเจรจาเรื่อง ยอดจำนวนเงินทีจะขอกู้สุทธิ

วันที่ 14 ต.ค.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า  ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย. ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 ก.ย.2564ที่ผ่านมาโดยระบุว่า 

“กรรมการเฟดตระหนักว่า หากการตัดสินใจเริ่มปรับลดวงเงิน QE เกิดขึ้นในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ กระบวนการปรับลดวงเงิน QE ก็จะสามารถเริ่มต้นได้ในช่วงกลางเดือนพ.ย.หรือกลางเดือนธ.ค.นี้ กรรมการเฟดส่วนใหญ่ประเมินว่า เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นวงกว้างแล้ว กระบวนการปรับลดวงเงิน QE อย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะเสร็จสิ้นลงในช่วงกลางปีหน้านั้น ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม” 

รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า ตามแผนการต่าง ๆ ที่กรรมการเฟดได้หารือกันในการประชุมเดือนก.ย.นั้น เฟดจะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน จากปัจจุบันที่เฟดซื้อพันธบัตรในวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน 

นอกจากนี้ เฟดจะปรับลดการซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ลง 5 พันล้านดอลลาร์/เดือน จากปัจจุบันที่ซื้อตราสารหนี้ MBS ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

รายงานการประชุมเฟดระบุว่า”กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การที่เฟดส่งสัญญาณล่วงหน้าให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับแนวทางเหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงที่ตลาดจะมีปฏิกริยารุนแรงต่อการปรับลดวงเงินในโครงการ QE” 

แม้ธนาคารกลางสหรัฐอธิบายถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นปัญหา”ชั่วคราว”แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายคนไม่เห็นด้วยและชี้ไปที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั่วทุกอุตสาหกรรมว่าเป็นเหตุผลที่น่าเป็นห่วง 

ราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายนตามข้อมูลของกระทรวงแรงงาน และการเพิ่มขึ้นปีต่อปีนั้นสูงที่สุดในรอบหลายปี

ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม สิ่งนี้ทำให้การเพิ่มขึ้นปีต่อปีที่ 5.4% ซึ่งเป็นการกระโดดที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ 2008

ตลอดเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ สาเหตุหลักมาจากปัญหาด้านขาดแรงงาน เช่นเดียวกับปัญหาคอขวดของอุปทานที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเบนซิน ซึ่งราคาเฉลี่ยสูงสุดในรอบหลายปี  เชื้อเพลิงความร้อน ค่าเช่า เฟอร์นิเจอร์และยานพาหนะใหม่ ขณะที่ค่าโดยสารเครื่องบิน เสื้อผ้า และยานพาหนะใช้แล้วราคาลดลง

ค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยในเดือนกันยายนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังไม่เพียงพอตามอัตราเงินเฟ้อ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 4.6% เท่านั้น 

รายงานตำแหน่งงานล่าสุดก็น่าผิดหวังเช่นกัน โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในระบบเศรษฐกิจในเดือนกันยายน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก อัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.8% ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และคนงานลาออกจากงานในอัตราที่สูง 

ข้อมูลของกระทรวงแรงงานเปิดเผยเมื่อไม่นานนี้ว่ามีคนลาออกจากงานมากถึง 4.3 ล้านคนในเดือนสิงหาคม ซึ่งคิดเป็น 2.9% ของแรงงานทั้งหมด 

นักวิจารณ์ชี้ไปที่คำสั่งให้วัคซีนของประธานาธิบดี โจ ไบเดน สำหรับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน อันเป็นเหตุผลหลักที่อยู่เบื้องหลังปัญหาด้านพนักงานซึ่งกำลังสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะนี้ เนื่องจากหลายคนกำลังเดินหนีหรือถูกไล่ออกจากงานเพราะปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า การกำหนดเวลาและอัตราการปรับลด QE ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด และ Fed จะต้องมีการทดสอบที่เข้มงวดมากขึ้นก่อนตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยตัวเลขเงินเฟ้อและการจ้างงานในตลาดยังเป็นสองปัจจัยหลักที่ Fed นำมาพิจารณาเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ