จีน-ญี่ปุ่นลงทุนไทยกระหึ่ม!?! 9เดือน 130,000 ล้าน EEC เนื้อหอมดันเศรษฐกิจโต 5%

1843

กระหึ่มโดยแท้ที่สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทย ดูดีไม่น้อย เมื่อพบว่าขาใหญ่มาลงทุนกันพรึบทั้ง จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ เกาหลีใต้มูลค่ากว่า 130,000 ล้านบาท ทำเอาสุพัฒนพงษ์ฯรองนายกฯและรมว.พลังงาน โวได้ว่าเศรษฐกิจไทยปี ’65 จะโตได้ 5%ตามที่EEC ตั้งเป้าไว้ ขณะที่ท่านนายกฯพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ชื่นชมความก้าวหน้าและความสำเร็จของ EEC  ย้ำให้ดึงนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนใน EEC ให้มากขึ้น โดยแนะให้ไปบุกในกลุ่ม สหภาพยุโรปและประเทศที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากลูกค้าหลักที่เรามีอยู่ 

สำหรับEEC ยังเนื้อหอมต่างชาติให้ความสนใจ จึงยังคงเป็นความหวังสร้างรายได้เข้าประเทศ

เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เรียกว่า FDI ในพื้นที่ EEC  โดยเน้นดึงดูดกลุ่ม EU และประเทศที่มีศักยภาพให้มาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมทั้งการศึกษา การวิจัยและการพัฒนาต่าง ๆ  พร้อมเร่งรัดดำเนินการเรื่องที่ยังติดค้างให้อยู่ให้สำเร็จภายในไตรมาส 4  ของปีนี้  เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย 

นายกรัฐมนตรียังไดเ้เน้น การใช้ศักยภาพทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยกรทางพืชเกษตรที่ไทยมีอยู่จำนวนมาก โดยมอบให้ อว.หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานวิจัย ช่วยวิจัยพัฒนาแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าพืชเกษตรให้สูงขึ้น แก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและตกต่ำ รวมทั้งให้ขยายโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EEC) ไปสู่ทางด้านธุรกิจประมง ทั้งการจัดห้องเย็นให้เพียงพอและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสิ้นค้าต่าง ๆ ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

ในการประชุมครม. ที่ประชุมได้เห็นชอบวาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาEEC หลายด้าน เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F  ที่ประชุมเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด ของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะท่ี 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป 

ด้านแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ. 2566 – 2570) ในส่วน โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EEC) ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ สกพอ.ศึกษาการจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารโครงการ EFC เพื่อขับเคลื่อนโครงการ  ฯ ตามเป้าหมายที่กำหนด  และเห็นชอบ แผนพัฒนาเมืองพัทยาตามแนวทาง NEO PATTAYA  เพื่อขยายผลสู่การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมการท่องเท่ียว กลุ่มรายได้ดีและการท่องเท่ียวเชิงสุขภาพ  และเห็นชอบ ให้ “โครงการการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง2 ฯ เป็น 1 ในโครงการ EEC Project List มอบหมายให้ สธ.และ สกพอ.ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังชื่นชมมหาวิทยาลัยบูรพาพัฒนา ที่มีศูนย์การผลิตยาจากสารสกัดพืชสมุนไพร วิเคราะห์ยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร  โดยขอให้มีการวิจัยพัฒนาแปรรูปพืชสมุนไพรให้มากขึ้น กำหนดเป้าหมายและโจทย์ให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่มีมูลค่าสูงเช่นเดียวกับที่ต่างประเทศดำเนินการ

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้โจทย์ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเปลี่ยนไป หลังจากสถานการณ์โควิด-19 โดยรัฐบาลมีเป้าหมายขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2565 เพิ่มขึ้น 5% จากการที่รัฐบาลใส่มาตรการต่างๆ และการใส่เงินในกระเป๋าประชาชน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะเร่งพัฒนารถไฟรางคู่ให้ไปเชื่อมรถไฟใน สปป.ลาวใน 2 ปีครึ่ง

ด้านการนิคมอุตสาหกรรม หรือกนอ.ปลื้มกับเม็ดเงินลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-มิ.ย. 64) ทะลุ 130,000 ล้านบาท โตถึง 138.27% จากการลงทุนเครื่องจักรของลูกค้าเดิมในนิคมฯ ขณะที่ยอดขาย/เช่าที่ดินลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.59% ผลจากโควิด-19 ทำให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาดูพื้นที่ไม่สะดวก คาดการลงทุนของไทยและจากต่างประเทศช่วงไตรมาส 4 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-มิ.ย. 64) ภาพรวมมูลค่าการลงทุนช่วง 9 เดือนปี 2564 คิดเป็น 130,289.44 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 138.27%

การลงทุนในนิคมฯ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณที่มีมูลค่าเพิ่มมาจากการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นของฐานลูกค้าเดิมในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กระบวนการผลิต โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.77% อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 10.83% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.80% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.01% และอุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ 6.05% 

นายวีริศกล่าวว่า “นักลงทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง 15.15% รองลงมาคือ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 12.12% และสิงคโปร์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา 9.09%”

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีนักลงทุนมาลงทุนในไทยแล้วกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ยังมีกลุ่มที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านซัพพลายเชน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีพื้นฐานของระบบซัพพลายเชนที่ดีอีกทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว