หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการนำเข้าวัคซีนทางเลือก อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์น่า ว่าเหตุใดถึงมีความล่าช้า ในขณะที่สถานการณ์เริ่มแย่ลง เพราะสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดหนักในช่วงนี้
ต่อมาทางด้านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อต่าง ๆ โดยระบุว่า ในวันที่ 6 กรกฎาคม นีี้กรมควบคุมโรคจะทำเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติลงนามสัญญา ซื้อวัคซีนโควิด -19 ยี่ห้อไฟเซอร์ Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส เพื่อนำเข้าประเทศไทย ภายในไตรมาส 4 หรือภายในเดือน ตุลาคม 2564
และเมื่อช่วงค่ำวันที่ 4 ก.ค. 2564 ได้เกิดประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ เมื่อเพจไทยรัฐออนไลน์ ได้โพสต์ภาพเอกสารประชุมเฉพาะกิจ โดยมีวาระการพิจารณาแนวทางการให้วัคซีน Pfizer ของประเทศไทย มีข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการ Pfizer 1.5 ล้านโดส ช่วง ก.ค.- ส.ค. 2564 จำนวน 3 ทางเลือก และมีข้อสรุปบางข้อ ที่เป็นสาเหตุหลัก ว่าทำไมถึงนำเข้าวัคซีน Pfizer ไม่ได้ จนทำให้สังคมวิจารณ์อย่างหนัก พร้อมจี้ให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลต้องออกมาตอบเรื่องนี้ ว่าจริงหรือไม่
โดยภาพเอกสารดังกล่าว ได้บันทึกการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และ คณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โดยเนื้อหาเอกสารดังกล่าวมีวาระการประชุมที่น่าสนใจ เช่น ที่ประชุมประเมินว่าจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 1.5 ล้านโดส และจะได้รับในไตรมาสที่ 4 รวม 20 ล้านโดส
วาระเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการวัคซีน มีรายละเอียดว่า ควรมุ่งเน้นไปที่บุคคลทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่
1. บุคคลอายุ 12-18 ปี
2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
3. ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3
โดยที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นหลายแนวทาง เช่น ควรให้กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ และแก้ปัญหาที่พื้นที่ระบาดก่อน ในขณะที่บางส่วนเห็นว่ากลุ่มบุคคลอายุ 12-18 ปี ยังสามารถรอวัคซีนจากการสั่งซื้อได้
แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ปรากฎว่าส่วนหนึ่งเห็นด้วย เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกำลังสำคัญ ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 เข็มแล้ว แต่บุคลากรการแพทย์ก็ยังเกิดการติดโรคระบาดโควิด-19 หลายราย
ในขณะที่บางส่วนมีความเห็นว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 แสดงยอมรับว่า Sinovac (วัคซีนหลักที่ไทยใช้อยู่) ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”
ทั้งนี้มติที่ประชุมคณะดังกล่าว สรุปแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ในเดือน ก.ค. – ส.ค. 64 โดยเห็นชอบควรให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับระยะแรก จำนวน 1.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเน้นในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง คือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ขณะที่ทางด้านเพจ Drama-addict ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงเรื่องนี้ด้วยว่า “ประเด็นเอกสารหลุดที่ Thairath ไทยรัฐออนไลน์ นำเสนอนี่เรื่องใหญ่นะครับ คนที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงด้วย”
ทำให้มีชาวโซเชียลออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีคนแคปไว้ทันเยอะมาก คนที่เสนอในข้อ 10 นั้น ไม่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์เลย , ข้อ 10 คิดว่าจะเป็นลักษณะของบันทึกการประชุม ทีนี้ถ้าจะแก้ตัวมันก็น่าจะออกมาลักษณะ “เป็นแค่ข้อเสนอแนะไม่ใช่มติที่ประชุม” แต่คำถามคือใครที่เสนอ? , ต้นทางที่เคยแชร์ เปลี่ยนเป็นข่าวมติชนแล้ว แต่ยังมีข้อความข้อ 10 เหมือนกันอยู่
อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่ายังไงบ้าง เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องด้วยสถานการณ์ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อ 6,000 คนหลายวันติด ทำให้ยิ่งต้องป้องกันด่านหน้าให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อจะได้มีประสิทธิภาพรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า