เปิดสาเหตุ “รพ.วิภาวดี” ยกเลิกสั่งโมเดอร์นา ย้อนคำสั่งนายกฯตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือก ไร้ชื่อ “อนุทิน”!!

2414

เปิดสาเหตุ “รพ.วิภาวดี” ยกเลิกสั่งโมเดอร์นา ย้อนคำสั่งนายกฯตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือก ไร้ชื่อ “อนุทิน”!!

จากกรณีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 โรงพยาบาลวิภาวดี ได้ออกมาแจ้งผ่านทางเฟซบุ๊ก Vibhavadi Hospital ระบุว่า เรียน ท่านผู้แสดงความสนใจในการรับวัคซีน Moderna กับโรงพยาบาลวิภาวดี ตามที่ได้ให้ความสำคัญกับการนำเข้าวัคซีนทางเลือก โดยหวังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งท่านได้ให้ความสนใจวัคซีนทางเลือก (Moderna) กับโรงพยาบาลนั้น

การดำเนินการจัดซื้อวัคซีน ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้โรงพยาบาลวิภาวดีให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ทุกท่านไม่ได้ว่าจะได้รับวัคซีนในช่วงเวลาใด ซึ่งโรงพยาบาลถือว่าอาจเกิดความเสี่ยงแก่ท่าน และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อผู้ใช้บริการทุกท่านที่คาดหวังว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด โรงพยาบาลจึงพิจารณาตัดสินใจยกเลิกการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว

ต่อมาทางด้าน นพ.ชัยสิทธิ์ คุปต์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาวดี ได้เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลได้จองวัคซีน Moderna ไว้ล็อตหนึ่งตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ต้องรอให้ อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งเมื่อ อย. ขึ้นทะเบียนรับรองแล้ว ทางโรงพยาบาลก็สามารถนำวัคซีนดังกล่าวเข้ามาฉีดให้กับผู้ที่จองซื้อเอาไว้ก่อนหน้านี้ได้ ซึ่งมีประมาณ 4,000 ราย ในส่วนของวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับทาง อย. เรียบร้อยแล้ว เช่น AstraZeneca ตอนนี้ได้เปิดให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ซึ่งวัคซีนเหล่านี้ฉีดฟรี แต่ช่วงนี้ยังเปิดรับเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น

ย้อนไปเมื่อปลายปี 2563 ทางโรงพยาบาลวิภาวดี ได้เปิดให้ประชาชนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท โมเดอร์นา ของทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนและเนื่องจากวัคซีนของโมเดอร์นาก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาล ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เจรจากับผู้ผลิตวัคซีนเพื่อจัดหาวัคซีนโควิดเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน โดยมีวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนกา แต่ก็มีความพยายามจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอกับประชาชนในประเทศ ซึ่งประเด้นดังกล่าวก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ได้เชิญตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการจัดหาวัคซีนทางเลือกของโรงพยาบาลเอกชน โดยมอบหมายให้นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อหารือถึงแนวทางให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน

โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ครอบคลุมการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงแต่งตั้ง 1.นพ.ปิยะสกล เป็นประธานคณะทำงาน ขณะที่คณะทำงาน ประกอบด้วย 2.นพ.โสภณ เมฆธน เป็นรองประธาน 3.นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4.เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 5. ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

6.อธิบดีกรมควบคุมโรค 7.อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 8.ศาสตราจารย์ พิชัย สนแจ้ง9.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ 10.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ 11.พญ.เมชินี ไหมแพง 12.นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี 13.นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช 14.นพ.นพพร ชื่นกลิ่น 15.นพ.บุญ วนาสิน 16.พญ.เจรียง จันทรโกมล 17. นายประทีป กีรติเรขา เลขานุการ และ 18.ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เลขานุการคณะทำงาน

คณะทำงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ เสนอแนวทาง และมาตรการในการจัดหาวัคซีนโควิด สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน​ ติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อโควิดเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีน รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยมีผลตั้งแต่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฎชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข