ข่าวดีท่ามกลางโควิดยังคุกคามชีวิตประชาชน รัฐบาลเร่งผุดมาตรการดูแลเยียวยาทั้งเร่งด่วน และคาดหลังโควิดคลี่คลาย โดยครม.เคาะแล้ว ในการเพิ่มวงเงินและขยายเวลาโครงการเราชนะ-โครงการ ม.33 เรารักกัน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 42 ล้านคน ในช่วง 2 เดือนพ.ค.-มิ.ย. ส่วนมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 จะเริ่มช่วง 6 เดือนหลัง
มาดูรายละเอียดที่รัฐมอบให้กันว่า แจกตรงถึงมือประชาชนเท่าไหร่เดือนพ.ค.-มิ.ย.
วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน กรอบวงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ช่วง พ.ค.-มิ.ย.2564 และเห็นชอบมาตรการในระยะต่อไป เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงช่วง ก.ค.-ธ.ค.2564 โดยมีกรอบวงเงินเบื้องต้น 140,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการเบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯที่ยังคงเหลืออยู่
โครงการเราชนะ เพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท โอนสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ จำนวนกลุ่มเป้าหมายประมาณ 32.9 ล้านคน กรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท โดยผู้ได้สิทธิ์แล้วให้ยืนยันตัวตนเท่านั้น คาดเปิดยืนยันตัวตนปลายเดือนพ.ค. ให้การใช้จ่ายสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564
โครงการ ม.33 เรารักกัน วงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33 อีกคนละ 2,000 บาท โอนสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีจำนวนกลุ่มเป้าหมายกว่า 9.27 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินรวม 18,500 ล้านบาท รอประกาศจากทางการโอนเงินงวดใหม่เมื่อไหร่ภายในเดือนพ.ค.นี้ให้ใช้จ่ายสิ้นสุดถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ประชาชน 13.65 ล้านคน ให้เงินค่าครองชีพแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือนเริ่มตั้งแต่กรกฎาคม-ธันวาคม 2564 รวมวงเงินคนละ 1,200 บาท
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษจำนวนเป้าหมาย 2.5 ล้านคน เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน
เริ่มตั้งแต่กรกฎาคม-ธันวาคม 2564 รวมวงเงินคนละ 1,200 บาท
โครงการคนละครึ่งเฟส 3 คนละ 3,000 บาท จำนวน 31 ล้านคน กรอบวงเงินงบประมาณ 93,000 ล้านบาท คาดเริ่มเปิดลงทะเบียนภายในเดือนมิถุนายน 2564 ระยะเวลาใช้ เริ่มเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564
กลุ่มผู้ที่มีสิทธิ์ลงทะเบียน โครงการ “คนละครึ่ง” มีเงื่อนไข 4 ข้อดังนี้
1.มีบัตรประจำตัวประชาชนและเป็นบุคคลสัญชาติไทย2.อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน3.ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิ์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ4.ผู้ที่ได้รับสิทธิ์และใช้สิทธิ์ในโครงการ “คนละครึ่ง” แล้ว จะไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ “ช้อปดีมีคืน” “ยิ่งใช้ยิ่งดี”
โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งดี” โดยรัฐบาลจะสนับสนุน E-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า และค่าอาหารเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยภาครัฐจะสนับสนุน E-Voucher โดยคาดว่าประชาชนจะเข้าร่วมโครงการประมาณ 4 ล้านคน ระยะเวลาเริ่มเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม – 2564
ค่าไฟฟ้า
มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าสําหรับ บ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กําหนดให้ดําเนินการเป็นระยะเวลา 6 เดือน สําหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจําเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564
โดยให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย.2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
ค่าน้ำประปา
เสนอให้ลดค่าน้ําประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะ บ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 6 เดือน สําหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจําเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ ออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนหลายโครงการได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก
-มาตรการเราชนะ จำนวน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (สำหรับเดือน ม.ค. – ก.พ. 64) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 33.2 ล้านคน และมีมูลค่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 203,295 ล้านบาท
-มาตรการ ม.33 เรารักกัน ครั้งที่ผ่านมาได้รับเงินเยียวยาทั้งหมดรวม 4,000 บาท แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มใช้สิทธิผ่านสมาร์ทโฟน กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ใช้สิทธิผ่านบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ระยะเวลาสมัคร-รับเงิน-ใช้เงิน เริ่ม มี.ค.-พ.ค.2564
–มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564
–การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 64
–มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ(สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท
–มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ซึ่งได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี