กทม.แจงค่ารถไฟฟ้าสีเขียวสวนองค์กรผู้บริโภค!?!ยึดตัวเลขรฟม.สุดมั่ว ค่าตั๋วตลอดสาย 25 บาทขาดทุนกว่า 4 หมื่นลบ.

1763

การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวใกล้ได้ข้อยุติ เมื่อพลเอกประยุทธ์ จ้นทร์โอชาแย้มไม่นานเข้าครม.พิจารณา ก็เกิดกระแสต่อต้านขึ้นมาในทันที โดยองค์กรผู้บริโภคออกโรงล่ารายชื่อคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับบีทีเอส โดยระบุว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่กำหนดสูงสุด 65 บาทตลอดสายแพงเกินไป สร้างภาระต่อผู้บริโภคสามารถทำให้ถูกที่สุด 25 บาทและยังมีกำไร 2.3 หมื่นล้านได้โดยแจงว่าเป็นข้อสรุปจากตัวเลขของรฟม.-กระทรวงคมนาคม เรื่องนี้ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้ทำหนังสือโต้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้เปรี้ยงเป็นการให้ข้อมูลสาธารณะคลาดเคลื่อน ความจริงขาดทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

มูลนิธิเพื่อผูู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภค โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหว คัดค้านการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอ้างว่าจะทำให้ราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 65 บาท ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่มีการระบุว่า กรณีถ้ามีการขยายสัมปทานฯจะทำให้อัตราค่าโดยสารควรจะเป็นที่ 158 บาท คงเหลือในอัตราสูงสุด 65 บาท ตลอดสาย รวมระยะทาง 68.25 กม. ไม่ใช่ระดับราคาแรกขึ้น พร้อมเรียกร้องให้กทม.เปิดเผยข้อมูล ที่มาอัตราค่าโดยสาร ในการนำมาใชำคำนวณ เพราะสามารถทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือเพียง 25 บาท ตลอดสายเหมือนในต่างประเทศได้

ล่าสุด นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้ออกหนังสือชี้แจง กรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเนื้อหาระบุว่า 

ตามที่อ้างถึงท่านในฐานะเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ว่าการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สามารถกำหนดได้ในอัตรา 25 บาทต่อเที่ยว โดยกรุงเทพมหานครยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้มากถึง 23,200 ล้านบาท ซึ่งในการคำนวณดังกล่าวได้อ้างอิงจากตัวเลขและข้อมูลของกระทรวงคมนาคม รายละเอียดปรากฏตาม เว็บไซของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค (https://www.consumerthai.org/consumers-news/public-society/๔๕๖๘-๖๔o๔o๙_bts.htm) รวมทั้งมีการนำเสนอข้อมูลตามผ่านสื่อต่าง ๆ 

สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ขอชี้แจงว่า การวิเคราะห์ข้อมูลประมาณการทางการเงินจะต้องพิจารณาบนสมมติฐานและข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วย รายได้ค่าโดยสารค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงาน และภาระหนี้สินที่กรุงเทพมหานครและภาครัฐมีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตจากการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมทั้งข้อมูลที่ใช้จะมีความถูกต้องสอดคล้องกับการดำเนินโครงการขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า จึงจะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยปราศจากการพิจารณาสมมติฐานที่ครบถ้วน จะทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องและสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชนโดยทั่วไปได้

นอกจากนั้น จากการนำเสนอข้อมูลขององค์กรฯ โดยการแสดงเพียงประมาณการรายได้ หลังปี 2572 เป็นต้นไป เป็นการแสดงข้อมูลที่คาดเคลื่อน และไม่ได้แสดงข้อมูลให้ครบถ้วนตลอดระยะเวลาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีภาระหนี้สินที่ต้องได้รับการแก้ไขและหาทางชำระให้ได้ในช่วงปี 2564-2572 ด้วย

ในกรณีที่ กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการและรับภาระหนี้สินทั้งหมดเอง หากคำนวณจากประมาณการจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบัน กรณีค่าโดยสารสูงสุด ๒๕ บาทต่อเที่ยว ด้วยภาระค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนต่าง ๆ กรุงเทพมหานครจะประสบปัญหาการขาดทุนในการดำเนินการดังต่อไปนี้

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 25 บาทต่อเที่ยว จะทำให้ในช่วงปี 2564-2602 กรุงเทพมหานครจะประสบปัญหาการขาดทุนเป็นจำนวนมากถึง 176,423 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมเงินที่จะต้องลงทุนปรับปรุงระบบและซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มในอนาคต (แม้จะสามารถมีรายได้เชิงพาณิชย์ก็จะไม่เพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายส่วนที่ขาดทุนนี้) ซึ่งกรุงเทพมหานคร จำเป็นจะต้องจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และ/หรือ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อมารองรับผลการขาดทุนดังกล่าว ซึ่งทำให้กรุงเทพมหานครไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะไปพัฒนาโครงการอื่น ๆ ได้ และอาจส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อรองรับผลขาดทุน เป็นภาระต่องบประมาณของแผ่นดินในอนาคต

นอกจากนั้น ตามข้อมูลที่สภาองค์กรของผู้บริโภคนำเสนอว่า ตามประมาณการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งระบุสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารในปี 2563 มีจำนวนสูงกว่าผู้โดยสารจริงในเดือนมกราคมปี 2563 (จำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19) ถึงร้อยละ 30 หรือสูงกว่าประมาณ 360,000 เที่ยวคนต่อวัน เทียบเป็น 131 ล้านเที่ยวคนต่อปี รวมทั้งสมมติฐานว่าจำนวนผู้โดยสารที่จะเติบโตในอัตรา ร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตจริงในอดีตที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ต่อปี รายละเอียดตามตารางดังนี้

และตามตารางแสดงข้อมูลเปรียบเทียบ ที่นำเสนอโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคเองก็ขาดทุน ในช่วงปี 2573-2585 ถึง 39,800 ล้านบาท จึงไม่ได้มีกำไร 23,200 ล้านบาทแต่อย่างใด 

สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครจึงขอเรียนชี้แจงให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้พิจารณาแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งนำเสนอต่อสาธารณะให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป