3 พื้นที่นี้ ศบค.ยังห่วง ต้องตรวจเชิงรุก สธ. แจงปมเลือกวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกา โต้ ธนาธร

2147

วันนี้ (19 ม.ค. 2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) และ ศบค. ยังมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิดภายในประเทศ 3 จุดสำคัญ คือ สมุทรสาคร, กรุงเทพฯ และชายแดนใต้

1.จังหวัดสมุทรสาคร ต้องใช้แนวทางในการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในโรงงานที่มีอยู่หมื่นกว่าโรง ยอมรับว่าการเข้าไปค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในโรงงานต่าง ๆ ยังมีอุปสรรค เนื่องจากจำนวนโรงงานมีมาก แต่ก็จะต้องดำเนินการตามแผนที่วางไว้ คือ การใช้ทีมสอบสวนโรคเข้าไปสุ่มตรวจอย่างน้อยวันละ 600 แห่ง และตรวจอย่างน้อย 50 คน/โรง ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่จะต้องทำให้ครบภายในสิ้นเดือนนี้ตามที่ประกาศข้อกำหนดมาตรการจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ม.ค.64

2.กรุงเทพฯ แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะเป็นระดับ 1 หลักหรือ 2 หลัก แต่เนื่องจากวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ มีลักษณะที่ใกล้ชิดกัน และจำนวนประชากรในพื้นที่ค่อนข้างหนาแน่น ทำให้เริ่มเห็นการแพร่เชื้อสู่บุคคลในครอบครัวเดียวกันมากขึ้น ดังนั้นระบบการค้นหาเชิงรุกจะต้องออกแบบและวางระบบเป็นอย่างดี ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำงานร่วมกัน กับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

“หากพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะใน 5 เขตที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของกรุงเทพฯ คือ เขตบางขุนเทียน, เขตบางแค, เขตบางพลัด, เขตจอมทอง และเขตธนบุรี ซึ่งอาจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากมีพื้นที่ใกล้เคียงกับ จ.สมุทรสาคร”

3.พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากขณะนี้มาเลเซียมีตัวเลขการระบาดในระดับหลักพันคนต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำประสบการณ์ในการควบคุมโรคที่เคยใช้กับประเทศเมียนมา ซึ่งมีชายแดนติดต่อทางฝั่งตะวันตกกับประเทศไทยมาใช้กับภาคใต้ด้วย ดังนั้นหากมีการควบคุมการระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแลและเป็นหูเป็นตาด้วยเช่นกัน

ขณะที่ทางด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 กรณีมีข่าวว่ารัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่ามีความล่าช้า และมีราคาแพง ไม่ครอบคลุมประชาชน รวมทั้งกระบวนการได้มาซึ่งวัคซีน ที่ถูกระบุวาไทยติดต่อวัคซีนเพียงบริษัทเดียว เป็นการการจัดหาวัคซีนของแอสตราเซเนก้า และสยามไบโอไซเอนซ์ ในเรื่องนี้

นพ.ศุภกิจ ระบุว่าหลังการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมองว่าวัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด และการดำเนินการก็ไม่ได้ล่าช้า เพราะเริ่มกระบวนการตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนตามกลไก และยังมีคณะทำงานย่อย ซึ่งได้ศึกษาติดตามข้อมูลมาตลอด ซึ่งในเวลานั้นมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด ที่ต้องคาดการณ์และวางแปน โดยไทยตั้งเป้าว่าปี 2564 หลังการทดลองเฟส 3 น่าจะได้มาฉีดให้ประชาชน ประมาณ 50% ของประชากร

ในส่วนของวัคซีนของแอสตราเซเนกา นอกจากการจองซื้อยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดการพัฒนาในไทยด้วย ในส่วนนี้เราได้วัคซีน 20% หรือ 26 ล้านโดส แต่ก็ยังเปิดทางให้ได้รับทางอื่นด้วย และยังคงศึกษาจากทุกเจ้าที่ผลิตวัคซีนเพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยเพราะต้องมีการทำข้อตกลง อีกทั้งเรายังไม่ได้ละเลยการสนับสนุนการผลิตเองในประเทศ เพราะถ้าสนับสนุนคนไทยทำได้ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ

ด้าน นพ.นคร ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้วัคซีนโควิด-19 ในภาวะเร่งด่วนและในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนการที่สถาบันวัคซีนร่วมกันจัดหาวัคซีนและจองล่วงหน้า ใช้ข้อมูลประกอบกัน และพิจารณารูปแบบวัคซีนที่วิจัยพัฒนาอยู่ว่ามีแนวโน้มจะใช้ได้กับไทยหรือไม่ ไม่ใช่การพิจารณาแค่ชื่อบริษัท หรือตามตัววัคซีนอย่างดียว

ซึ่งการจองซื้อวัคซีนกับทางแอสตราเซเนก้า ไม่ใช่การจองซื้อวัคซีนทั่วไป แต่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ไทย ซึ่งแอสตราเซเนก้าได้เลือกผู้ที่มีความพร้อม มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ คือ สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งพร้อมที่จะรองรับการถ่ายทอดจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด แม้แต่องค์การเภสัชกรรมของไทย ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ เพราะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

และการที่ไทยมีข้อตกลงในลักษณะนี้ ก็มีหลายประเทศอื่น ๆ อยากได้ข้อตกลงนี้กับไทย มีผู้พยายามแข่งให้บริษัทแอสตราเซเนก้า คัดเลือก แต่ทีมไทยแลนด์ทั้งสธ. และสถาบันวัคซีน และเอสซีจี และรัฐบาลเจรจาและแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เดิมผลิตเพียงแค่ชีววัตถุ หรือยาเพิ่มเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้องรัง ปรับศักยภาพการมาเป็นการผลิตวัคซีน ซึ่งรัฐสนับสนุน 500 ล้านบาท และเอสซีจีอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ จนเข้าคุณสมบัติ เป็นความพยายามทีมไทยแลนด์ไม่ใช่แค่ชั่วข้ามคืนที่ทำสำเร็จ แต่เป็นการวางรากฐานมาแต่เดิมว่าเป็นไปตามหลักปรัชญารัชกาลที่ 9 ซึ่งไทยวางรากฐานแล้ว มีคน มีต้นทุนที่วางไว้ 10 กว่าปี และการที่เข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดส และเจรจาอีก 35 ล้านโดส เป็นการหาวัคซีนให้เพียงพอกับคนไทย

ไม่ต้องกังวลว่าเราจะมีวัคซีนไม่เพียงพอ ยืนยันเรามีเพียงพอแน่สำหรับความต้องการของทุกคน เพราะเราสามารถจะผลิตได้เอง แม้จะเป็นสิทธิในการจำหน่ายของแอสตราเซเนกาแต่อยู่บนฐานความร่วมมือ ในอนาคตเราจะพึ่งพาตรเองได้หากมีการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ จึงต้องชื่นชมสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เข้ามาร่วมทำงานในลักษณะทีมประเทศไทย เพราะเขาต้องหยุดการผลิตเดิมทั้งหมดมาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน 7 วัน 24 ชั่วโมง ให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย เราได้รับการถ่ายทอดตั้งแต่ต้นน้ำ แอสตราเซเนกาส่งวัคซีนมาให้เพียง 1 cc เราต้องขยายกำลังการผลิตให้ได้ 2,000 ลิตร ต้องใช้ความสามารถอย่างมาก ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดให้เป็นไปตามแผน และมั่นใจว่าเราจะได้วัคซีนแน่ และคุณภาพวัคซีนตรงตามที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซเนกากำหนด

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สิ่งสำคัญสุดวันนี้เน้นในเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติแผนช่วยเหลือเยียวยาในระยะต่อจากนี้ไป ซึ่งมอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องแถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชน เนื่องจากมีรายละเอียดหลายอย่างด้วยกัน ในเรื่องใครจะได้ ได้อย่างไร วิธีการลงทะเบียน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีรายละเอียดเยอะพอสมควร สรุปแล้วรัฐบาลจะดูแลคนให้มากที่สุด ในส่วนที่เรายังมีงบประมาณเหลืออยู่ แต่จำเป็นต้องสงวนไว้บางส่วนเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ในขั้นต่อไปในเรื่องของการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย

นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 ในตอนนี้ตนคิดว่ามีแนวโน้มจะลดลง เราควบคุมได้แม้ตัวเลขจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าควบคุมได้ก็ไม่มีปัญหา เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องมาตรการคัดกรอง เรื่องการจัดพื้นที่ควบคุม วันนี้มีพื้นที่ควบคุมใหม่ที่เกิดขึ้นมาในเรื่องของ Factory Quarantine ใช้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ควบคุมของเขาเอง เป็นความร่วมมือของเขากับเรานอกจากของรัฐ ข้อสำคัญต้องขอความร่วมมือทุกท่านในเรื่องมาตรการต่าง ๆ อาจจะต้องยังคงเดิมต่อไป การจะตอบได้ถึงเมื่อไหร่เหล่านี้ต้องรอดูการประเมินผลเป็นวาระ ๆ ไป วันนี้ต้องดูผลสิ้นเดือนนี้ไปก่อน