ปิยบุตร โพสต์ข้อความ สุดจาบจ้วง “โจมตีสถาบันฯ” เสนอลดบทบาทและพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน!?!

5422

ปิยบุตร โพสต์ข้อความ สุดจาบจ้วง “โจมตีสถาบันฯ” ลดบทบาทและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการบริหารราชการแผ่นดิน

จากกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมองว่า สถาบันฯเป็นปัญหาของบ้านเมือง และมีการเคลื่อนไหวไปแนวทางเดียวกันกับม็อบมาโดยตลอด ต่อมาก็ได้ออกมาสนับสนุนให้ยกเลิกม.112 เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาในทุกมิติ ทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ในแง่ความไม่ได้สัดส่วนของอัตราโทษ ในแง่การนำมาใช้และตีความ ในแง่ของอุดมการณ์ที่กำกับอยู่เบื้องหลัง ดังที่ผมเคยแสดงความเห็นไว้ในหลายโอกาส

ปัจจุบันสถานการณ์การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้ ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีทีท่าจะแรงต่อเนื่องไปอีก ผมจึงมีความเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” ต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยเร็วที่สุด

ในการณ์นี้ อาจใช้โอกาสยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ทั้งระบบไปในคราวเดียวกัน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประมุขรัฐต่างประเทศ เอกอัครราชทูต ศาล เจ้าพนักงาน ไปจนถึงบุคคลธรรมดา ให้ไปว่ากล่าวกันทางแพ่ง และควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาททางแพ่ง ให้มีเหตุยกเว้นความผิดในกรณีวิจารณ์โดยสุจริต เป็นประโยชน์สาธารณะด้วย การยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับหลักสากล และนานาอารยประเทศ ในศตวรรษที่ 21 ไม่ควรมีใครถูกจำคุกเพียงเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

ล่าสุด นายปิยบุตร ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในกรณี ทำไมกษัตริย์ต้องไม่มีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ โดยระบุข้อความว่า

[ทำไมกษัตริย์ต้องไม่มีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ?]
1 ในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy ผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องเป็นผู้รับผิดชอบ คือ คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ส่วนกษัตริย์เป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ต้องรับผิด แต่รัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองฯต้องเป็นผู้รับผิด
2 หลักการประชาธิปไตยเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจและใช้อำนาจต้องถูกตรวจสอบ มีความรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ หากไม่ต้องการให้กษัตริย์ต้องรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย ก็ต้องไม่ให้กษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ
3 รัฐธรรมนูญไทยกำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้” เพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวบังเกิดผลได้จริง ก็จำเป็นต้องรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นกลางทางการเมือง ป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ เพราะ ถ้ากษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ก็ต้องมีความรับผิดชอบตามมา นำมาซึ่งการถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องได้ การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ย่อมมีคนชอบและมีคนชัง ย่อมมีคนเห็นด้วยและเห็นต่าง ย่อมมีคนได้คนเสีย หากปล่อยให้กษัตริย์มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ ก็อาจกระทบกับสถานะอันเป็นที่ “เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ได้
4 ยกตัวอย่าง หากกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดิน ในโครงการหรือนโยบายต่างๆ หากมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยหรือได้รับผลร้ายจากโครงการหรือนโยบายนั้น ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ประชาชนต้องพุ่งเป้าไปที่กษัตริย์ หรือหากกษัตริย์เข้ามาประกอบธุรกิจ หากมีผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นคู่แข่ง เขาก็ย่อมตั้งคำถามได้ว่า ธุรกิจของกษัตริย์นั้นได้รับการเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลหรือไม่ กระทบต่อหลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการหรือหลักการแข่งขันที่เป็นธรรมหรือไม่ เช่นกัน ผู้บริโภคก็ย่อมเรียกร้อง วิจารณ์ ฟ้องร้องกับธุรกิจเหล่านั้นได้ กรณีทั้งหมดนี้ ย่อมกระทบถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์
5 ใครก็ตามที่อ้างว่าจงรักภักดีจริง ใครก็ตามที่ต้องการปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์จริง จำเป็นต้องช่วยกันป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ
6 เช่นเดียวกัน หากกษัตริย์ต้องการดำรงรักษาสถานะ “อันเป็นที่เคารพสักการะ” ต้องการมีความคุ้มกันในการไม่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดี กษัตริย์ก็ต้องไม่เข้าไปมีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ
7 บรรดารัฐมนตรี นักการเมือง สื่อมวลชน ประชาชน ที่สนับสนุนให้กษัตริย์มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ หรืออ้างถึงกษัตริย์อยู่เสมอ หากพวกเขาประสงค์ดี ความประสงค์ดีเช่นว่าอาจส่งผลร้ายต่อสถานะของกษัตริย์ แต่ถ้าหากพวกเขากระทำลงไปเพราะต้องการแอบอิงเพื่อให้ฝักฝ่ายของตนได้ประโยชน์หรือเพื่อทำลายฝักฝ่ายตรงข้ามของตนแล้วล่ะก็ พวกเขาย่อมไม่ใช่ผู้รักษาสถาบันกษัตริย์