จีน-รัสเซียเตือนระวังกองกำลังต่างชาติแทรกแซงพม่า?!? หนุนอาเซียนประสานเจรจา หยุดสงครามแตกหัก มีแต่พังพินาศ

2096

สถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาดำเนินมากว่า 2 เดือนแล้ว นับวันมีแต่ตึงเครียดมากขึ้น ขณะที่สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกได้ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเฉพาะกลุ่มคณะผู้ก่อการยึดอำนาจ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งได้ผลักดันสหประชาชาติ เพิ่มมาตรการกดดันให้เข้มข้นขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนก็ได้แสดงบทบาทเชื่อมประสาน ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซียที่แสดงความต้องการผลักดันการประชุมวาระพิเศษในคณะกรรมการอาเซียนเรื่องเมียนมาโดยเฉพาะ และในที่สุดประธานอาเซียน ซึ่งดำรงตำแหน่งโดยประเทศบรูไนฯ ก็แสดงท่าทีตอบรับอย่างแข็งขัน เพียงแต่ยังไม่กำหนดวันนัดที่ชัดเจนเท่านั้น และรัสเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศพันธมิตรที่ห่วงใยการเคลื่อนไหวของตะวันตก ที่พากันกดดันคว่ำบาตรเมียนมา โหมกระพือกระแสความขัดแย้ง เท่ากับผลักให้เกิดสงครามกลางเมือง  นำความสูญเสียมาสู่ประชาชนเมียนมาในที่สุด

 

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา การพบปะกันระหว่างรมว.ต่างประเทศจีนและสมาชิกอาเซียน 4 แห่งเป็นไปอย่างราบรื่น โดยจีนขอให้สมาชิกอาเซียนระวังการแทรกแซงจากต่างชาติในเมียนมา และสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาโดยอาเซียนกันเอง

สนข. ANI ของอินเดีย รายงานเมื่อวัน 6 เม.ย.64 อ้างคำแถลงของนายหวัง อี้ รมว.กต.จีน ภายหลังประชุมร่วมกับ รมว.กต.สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน เรียกร้องสมาชิกอาเซียนให้ระมัดระวังการแทรกแซงจากต่างชาติในเมียนมา พร้อมกับมีกองกำลังภายนอกที่ทำการยุยงปลุกปั่นโดยมีนัยแอบแฝง ซึ่งทำให้เมียนมาแตกแยกรุนแรงและยุ่งยากมากขึ้น ทั้งนี้ จีนพร้อมที่จะประสานงานกับอาเซียนในห้วงเวลาที่เหมาะสมและให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่อาเซียน อย่างไรก็ดี จีนร้องขอให้ทุกฝ่ายในเมียนมาอดกลั้นถึงที่สุด ในการยุติความรุนแรงและป้องกันเหตุนองเลือดที่ก่อให้เกิดความสูญเสียของพลเรือน รวมทั้งหาทางเจรจาร่วมกัน

 

ก่อนหน้านี้จีนได้หารือกับพันธมิตรในอาเซียน

โดยรมว.การต่างประเทศของ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ พบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลปักกิ่ง ที่มณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกของจีน

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ว่านายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรมว.การต่างประเทศจีน พบหารือกับ รมว.การต่างประเทศของ 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมืองหนานปิง ในมณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกของจีน ผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ นายวิเวียน บาลากริชนัน รมว.การต่างประเทศสิงคโปร์ นางเรตโน มาร์ซูดี จากอินโดนีเซีย นายฮิชามมุดดิน ฮุสเซ็น จากมาเลเซีย และนายทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ จากฟิลิปปินส์ 

ทั้งนี้ ในส่วนของแถลงการณ์ร่วมนั้น กล่าวถึงความสนับสนุนของจีนต่อความพยายามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการดำเนินการตามกลไก เพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมา และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยรัฐบาลปักกิ่งขอให้คู่กรณีทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวเป็นสำคัญ

จีนย้ำไม่แทรกแซงพม่า โดยหวังอี้ระบุว่าเมียนมาเป็นสมาชิกที่สำคัญของอาเซียน ซึ่งตัวเขาอยากเห็นและสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการรักษา ‘หลักการไม่แทรกแซง’ และดำเนินบทบาทเชิงบวกในการส่งเสริมเสถียรภาพในเมียนมาผ่านทางแนวทางของอาเซียน ท่ามกลางสถานการณ์ที่คุกรุ่นและความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา กับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันจากเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก

กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ตามมาภายหลัง ระบุว่า รัฐมนตรีทั้งสองได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค ส่วนประเด็นวิกฤตในเมียนมานั้น ทั้งคู่ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดความตึงเครียด ยุติความรุนแรง และเริ่มต้นพูดคุยอย่างสร้างสรรค์

ต่อมาประธานอาเซียนเผยท่าทีตอบรับการเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยบรูไนสนับสนุนการจัดประชุมผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ ว่าด้วยสถานการณ์ตึงเครียดในเมียนมา

สนข.Reuters รายงานเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2564 ว่า ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีฮัสนัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน กับตัน ศรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน นรม.มาเลเซีย ซึ่งกำลังเยือนบรูไนในวันเดียวกันว่า บรูไนในฐานะประธานอาเซียนสนับสนุนการจัดประชุมเพื่อให้ผู้นำอาเซียนร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งทั้งสองประเทศเตรียมการที่จะจัดประชุมที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ยังไม่กำหนดวันเวลาที่จะจัดการประชุมที่ชัดเจน

สรุปคือจนถึงวันนี้ อาเซียนยังยืนหยัดไม่แทรกแซงด้วยการทหารต่อเมียนมา แต่จะดำเนินการคลี่คลายด้วยการเจรจากับฝ่ายผู้มีอำนาจในเมียนมา คาดว่ากองทัพและรัฐบาลกลางคงรับฟังแต่ไม่แน่ใจว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลกลางจะยอมเจรจาหรือไม่ เพราะล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่แข็งกร้าวเพิ่มขึ้น

เจ้ายอดศึกผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาประกาศยินดีต่อการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับกองทัพของ CRPH

สนข.Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ในวันเดียวกันกับที่อาเซียนเคลื่อนไหว ว่า ทีมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ (PPST) ของกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศแล้ว เผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องกองทัพเมียนมาให้ยุติการใช้ความรุนแรงและการสังหารประชาชน ปล่อยตัวผู้นำทางการเมือง และประชาชนโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมกับแสดงความยินดีต่อการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับกองทัพปี 2551 และการประกาศใช้กฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตย ของคณะกรรมการผู้แทนรัฐสภา (CRPH) ด้าน พล.อ.ยอดศึก ประธาน PPST ย้ำจุดยืนต่อต้านการยึดอำนาจ รวมทั้งสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน และจัดตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตย

 

สถานการณ์ในเมียนมายังคงคุกรุ่นจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลกลางและกองทัพ มีการยกระดับความรุนแรง เผาธงชาติจีน และขู่จะเผาท่อน้ำมันและกิจการธุรกิจของจีนเป็นหลัก อ้างจีนอยู่เบื้องหลังสนับสนุนการยึดอำนาจ

ขณะที่กองทัพเมียนมา ส่งกำลังทหารปราบกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์เป็นระยะ ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 560 ราย ถูกจับกุมอีกกว่า 2,500 คน

ในขณะที่รัสเซียพันธมิตรสำคัญของเมียนมาได้ออกมาโวยฝั่งตะวันตก เพราะรู้ทันความจริงว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตกต้องการอะไรที่เข้ามาจุ้นจ้านในภูมิภาคอาเซียนอย่างเอาการเอางาน

ในวันที่ 6 เม.ย.2564  กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ออกมาระบุว่ามาตรกรคว่ำบาตรเล่นงานพวกเจ้าหน้าที่นั้นไร้ประโยชน์และเป็นอันตรายร้ายแรง “ข้อเท็จจริงคือ แนวทางลักษณะนี้ยังเป็นการยุยงให้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันเอง และท้ายที่สุด  จะผลักประชาชนชาวพม่า  เข้าสู่ความขัดแย้งกลางเมืองเต็มรูปแบบ” 

กลุ่มติดอาวุธต่างชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ออกมาสนับสนุนขบวนการประท้วงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดเป็นสงครามกลางเมืองอย่างกว้างขวาง และสหประชาชาติก็ออกมาเตือนแล้วว่าอาจเกิดการ “นองเลือด” เร็วๆ นี้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของแดนหมีขาวเพิ่งพบปะกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร ในกรุงเนปิดอว์ในวันฉลองกองทัพเมียนมา เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ที่โจมตีมอสโกว่าไปสร้างความชอบธรรมแก่คณะยึดอำนาจรัฐบาลเมียนมา