สาหัสกว่าที่เห็น??? สหรัฐซ่อนความจริงเศรษฐกิจดิ่งเหว ขาดรายได้ คนตกงาน 41 ล้าน ชี้ส่งผลศก.ซึมยาว 10 ปี

2824

หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกอย่างไอเอ็มเอฟ, หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจรัฐสภาสหรัฐ และกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประสานเสียงสอดคล้องกันชัดเจนว่า เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐมีแนวโน้มหดตัวหนัก ประมาณ 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 249 ล้านล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้มีความไม่แน่นอนในระดับสูง เพราะการระบาดโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่และความแปรปรวนของสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลกระทบกับสหรัฐ ยังหาทางออกที่ชัดเจนไม่ได้ คาดส่งผลต่อเศรษฐกิจซึมยาวนับทศวรรษ

ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐล่าสุดในวันศุกร์ (17 ก.ค.) โดยคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐในปีนี้ จะหดตัวลงถึง 8% เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวกลับไปมีการขยายตัว 3.9% ในปี 2564 แต่อัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 7.4% ในช่วงไตรมาส 4 ของปีหน้า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาดในสหรัฐ ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.5% ในเดือนก.พ.ปีนี้

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สํานักงานวิเคราะห์และติดตามการใช้งบประมาณแห่งรัฐสภา (CBO) ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการคาดการณ์ฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 จะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 249 ล้านล้านบาท) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

รายงานระบุว่ามูลค่าผลผลิตจริงสะสมของสหรัฐฯ ช่วงปี 2020-2030 จะต่ำกว่าที่สำนักงานฯ คาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคมประมาณ 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 249 ล้านล้านบาท) เนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ซึ่งหมายความว่าจีดีพีจริงสะสมของสหรัฐฯ จะลดลงร้อยละ 3 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

และคาดการณ์ว่าการสั่งปิดธุรกิจและมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมจะส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดต่ำลง ขณะเดียวกันราคาพลังงานที่ลดลง เมื่อคนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านการเดินทางลดลง จะทำให้ปริมาณเงินลงทุนในภาคพลังงานของสหรัฐฯ ลดลงอย่างฮวบฮาบ

ปลายเดือน พฤษภาคม กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่า 40 ล้านคน โดยธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเลิกจ้างพนักงานมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของผู้ว่างงานทั้งหมด

แรงงานในสหรัฐที่ยังทำงานอยู่ต้องยอมถูกหักค่าจ้างแรงงานเพื่อความอยู่รอด นั่นหมายถึงกำลังซื้อจะหดหายไปจากคน 41 ล้านคนที่ต้องตกงาน รวมกับที่ยังมีงานทำก็ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด

รายงานระบุว่าการคาดการณ์เศรษฐกิจเหล่านี้มี “ความไม่แน่นอนในระดับสูงผิดปกติ” โดยเฉพาะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีนี้ รวมถึงปีต่อไป

สาหัสสุดตามความเห็นของ คลอเดีย แซม, ผู้อำนวยการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคศูนย์วอชิงตันเพื่อความเติบโตอย่างเท่าเทียม  ชี้ว่า “เรามีวิกฤติรายได้ซึ่งยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการไม่มีงานทำ”

สถิติลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนที่ถูกให้ออกจากงาน ได้รับเช็คค่าจ้างแต่เบิกไม่ได้มา 2-3 เดือน บางส่วนต้องยอมถูกหักค่าจ้าง หรือลดเวลาทำงานเพื่อพอมีรายได้ ซึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์ สะท้อนว่าธุรกิจในทุกระดับยังไม่มีรายได้

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำลังกลายเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจ หนักสุดจากวิกฤตต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในปี 2020 จากการระบาดของโควิด-19 มาจนถึงความวุ่นวายจากชุมนุาประท้วงการเหยียดสีผิวที่ปะทุต่อเนื่อง จนเป็นการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศลามไปยังเมืองใหญ่ หลายประเทศทั่วโลก   รวมถึงนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างความร้าวฉานกับจีน ก็ยิ่งซ้ำเติมให้สหรัฐพบกับความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ สังคมมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ “สหรัฐ” ยังครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก ล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 3,833,271 คน และยอดผู้เสียชีวิต 142,877 คน 

……………………………………………………..

https://www.politico.com/news/2020/07/19/wage-cuts-economy-crisis-368508?cid=apn