จากกรณีเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 โดยวิธีขานชื่อรายบุคคล โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 208 เสียงไม่เห็นชอบ 4 (ส.ว.ทั้งหมด) เสียง งดออกเสียง 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง ส.ว. (เห็นชอบ) 2 เสียง
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีสาระสำคัญคือให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากไม่ผ่าน 2 เงื่อนไข คือ เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของสองสภา และ เสียงเห็นชอบส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 คือ 84 เสียง
ต่อมา ทางด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นในทวิตเตอร์ ระบุว่า “เห็นการประชุมรัฐสภาวันนี้แล้ว เรามารณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 1.ยุบวุฒิสภา ใช้สภาเดียว 2. ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหมดนี้เพื่อ “จัดการเครื่องกีดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ จัดการนั่งร้านระบอบสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร”
“จากนั้น เราต้องรื้อฟื้นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยการออกเสียงประชามติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และทำรัฐธรรมนูญใหม่ทุกหมวด ทุกมาตรา”
ขณะที่ทางด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม นักการเมืองคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ก็ได้แสดงความเห็นโดยโพสต์เฟซบุ๊กสอดรับกับนายปิยบุตร นำเสนอถึง 3 ข้อเสนอเพื่อปลดอาวุธของ คสช.และหนทางสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคต
นายพริษฐ์ เริ่มอธิบายว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ประชาชนจำนวนมากส่งเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รณรงค์ลงชื่อจนได้ร่างของภาคประชาชนเสนอเข้าสู่รัฐสภา แม้สุดท้ายจะไม่ได้รับความเห็นชอบ แต่ประชาชนคงหลงเหลือความหวังกับร่างที่ยังอยู่ ว่าอาจจะพอเป็นทางออกของประเทศได้
แต่ภายในคืนเดียว ร่างดังกล่าวซึ่งเสนอโดยรัฐบาล รับหลักการโดยรัฐบาล ผ่านวาระสองโดยการมีส่วนร่วมของคนในรัฐบาล กลับถูกคว่ำโดยการโหวตของ สมาชิกวุฒิสภา และ ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐเสียเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้ง สสร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนเป็นที่มาของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกตีความอย่างหลากหลาย เป็นปัญหาต่อกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาในวาระสาม อย่างที่ทุกคนได้เห็นเมื่อคืนที่ผ่านมา
สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง ผมยังรู้สึกเสียดายที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่กดดันรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐให้มากกว่านี้
(1) ผมเชื่อว่าหากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ซึ่งประกาศจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พลิกสถานการณ์มายืนบนหลักการที่ถูกต้อง ร่วมมือกันไม่ยอมให้ตัวเองตกอยู่ในสถานะ “ตัวประกัน” ของพรรคพลังประชารัฐ กับ ส.ว. โดยการยื่นคำขาด “ถอนตัวออกจากรัฐบาล” หากไม่มีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยให้สัญญากับประชาชนไว้ อาจมีความเป็นไปได้มากกว่านี้ที่พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.จะไม่กล้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาพิจารณามาเป็นเวลาหลายเดือน
(2) แม้รู้ว่าการโหวตตามญัตติของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน จะไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพราะ ส.ว. ส่วนใหญ่แสดงท่าทีแล้วว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมมองว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลในฐานะตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง สมควรอยู่ในที่ประชุมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ด้วยการโหวตเห็นชอบ มิใช่ปล่อยให้ญัตติดังกล่าวตกเป็นความได้เปรียบของฝ่ายที่ไม่ได้มีความจริงใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก การเดินออกจากห้องประชุมของ ส.ส.เสียเอง ทำให้การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อคืนนี้ ไม่อาจพูดได้ว่าเกิดขึ้นจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. เท่านั้น แต่เมื่อดูคะแนนเสียงแล้ว ยังพูดไม่ได้อีกด้วยว่า ส.ส.เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกปิดประตู (ชั่วคราว) ไปแล้ว เรายังมีประตูอีกบานให้ร่วมกันเปิด คือการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ทำได้ทันที และสามารถทำควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว
แต่ในเมื่อระบอบ คสช. ไม่ยินยอมให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงต้องมาดูว่ามีมาตราไหนในรัฐธรรมนูญ 2560 บ้างที่มีปัญหา (ซึ่งมีเยอะมาก) และเป็นอาวุธสำคัญที่ คสช.ใช้ในการสืบทอดอำนาจ และสกัดกั้นการสร้างกติกาของบ้านเมืองที่เป็นธรรม
ในนามกลุ่ม “Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ผมขอเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อ ปลด 3 อาวุธของคสช. และเปิดทางสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคต โดยอาวุธทั้ง 3 ชิ้นนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับ ส.ว.
- ยุบวุฒิสภา กลายเป็น #สภาเดี่ยว เพราะ ส.ว.ชุดนี้มีอำนาจล้นฟ้าและขัดขวางได้ทุกการปฏิรูป (รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) แต่ไม่ได้มาจากประชาชน และบกพร่องในหน้าที่ด้วยการให้ท้ายฝ่ายบริหารมากกว่าจะตรวจสอบถ่วงดุล
- ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกคน ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.ชุดปัจจุบัน
- ยกเลิกการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. ชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
เราไม่อาจปล่อยให้อาวุธทั้ง 3 อย่างที่ คสช.วางไว้ ทำหน้าที่ขัดขวางประเทศไทยไม่ให้กลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้นานกว่านี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนที่เห็นปัญหาของบ้านเมืองเช่นเดียวกับผม มาร่วมกันเข้าชื่อในแคมเปญที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ใครสนใจ รอติดตามความคืบหน้าได้ที่เพจ Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ #ถึงเวลาสภาเดี่ยว #ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ #ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ
และไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ได้แสดงความเห็นเรื่องต่อดังกล่าวด้วยว่า [ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต้องไม่ยอมแพ้ : ก้าวต่อไปของรัฐธรรมนูญ] โดยระบุว่า การคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาเมื่อคืน แสดงให้เห็นแล้วว่าชนชั้นนำ, กองทัพ, รัฐบาล, พรรคการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน, ศาลรัฐธรรมนูญ และ สมาชิกวุฒิสภา ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เป็นที่สังเกตว่าตัวนาย ไอติม พริษฐ์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้มีความเห็นสอดรับไปกับทางนายปิยบุตรจนกลายเป็นคำถามตามมาว่า นายพริษฐ์ไปร่วมกับนายธนาธร นายปิยบุตร หรือพรรคก้าวไกลเลยดีไหม??