ก.คลังใส่เงิน 2.7 หมื่นล้านอุ้มบินไทย!?! ยื่นแผนฟื้นฟูฯแล้ว ลดพนง.เหลือ1.4หมื่นคน เดินหน้าปั้มรายได้เจรจาเจ้าหนี้

1655

และแล้วบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือ THAI ก็ได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่ออธิบดีกรมบังคับคดี ในวันที่ 2 มีนาคม 2564 ตามที่กฎหมายกำหนด และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ (จพท.)ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ระสิต ซึ่งก็จะต้องลุ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ว่าศาลจะอนุมัติแผนหรือไม่ แต่หลักสำคัญอยู่ที่เจ้าหนี้ถ้าเจ้าหนี้เห็นชอบแผน ก็คาดว่าน่าจะไม่มีปัญหาติดขัดแต่อย่างใด ถ้าแผนผ่านแล้ว การบินไทยต้องการเงินทุนมาบริหารกิจการอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งขั้นแรก กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จะเป็นผู้ใส่เงินเข้าไปประมาณ 27,000 ล้านบาท ที่เหลือเจ้าหนี้หุ้นกู้จะเป็นผู้พิจารณาใส่เงินมา

วันที่ 3 มี.ค.2564 นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 การบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจนแล้วเสร็จ และได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย

โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การบินไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาขาดทุน ขาดสภาพคล่อง และมีกระแสเงินสดเหลือน้อย การบินไทยจึงจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

นายชาญศิลป์ฯกล่าวว่า จากการศึกษาวิเคราะห์ธุรกิจและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจโดยละเอียด การบินไทยได้ริเริ่มจัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Chief of Transformation Office) และได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ โดยโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายการเงิน พร้อมระบุแผนการดำเนินงานโดยละเอียด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอน และกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้อย่างชัดเจน

ปัจจุบัน การบินไทยมีมาตรการที่ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปบ้างแล้ว ได้แก่  การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) และ ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) และการลดค่าใช้จ่าย โดยมีโครงการที่ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งการบินไทยวางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานลงจากปี 2562 

โดยในปี 2562 การบินไทยมีพนักงานประมาณ 29,000 คน ซึ่งปัจจุบันที่การบินไทยได้ดำเนินการ ปรับลดขนาดองค์กรสำเร็จลุล่วงแล้ว ทั้งโดยการลดจำนวนพนักงานที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) พนักงานที่เกษียณหรือลาออก และพนักงานผู้เสียสละเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร ทำให้วันนี้การบินไทยมีพนักงานอยู่ประมาณ 21,000 คน และคาดว่าในปี 2564 จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรอีกประมาณ 6,000 ถึง 7,000 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000 ถึง 15,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับแผนธุรกิจของการบินไทยในอนาคต

โดยคาดว่าหลังประชุมเจ้าหนี้เสร็จจะยื่นแผนฟื้นฟูฯ ผ่าน ภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 นอกจากนี้  เบื้องต้นคณะผู้ทำแผนเสนอให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป

การบินไทยจะลดต้นทุนในทุกส่วนของธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงปรับการทำงานขององค์กร ออกมาเป็น 9 แกนหลักในการยกเครื่ององค์กร เช่น ค่าบุคลากร ที่สูงถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาท ต้องเหลือไม่เกินปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือลดพนักงานกว่า 50% ใน 2 ปี ให้เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน ซึ่งคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายรวม 5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2565 และคาดว่าจะกลับมามีกำไรในปี 2568

นอกจากนี้ ได้ทำการลดเส้นทางการบินที่ไม่มีกำไร บริการลูกค้ากลุ่มพิเศษ และลดประเภทเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ จำนวน 86 ลำ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา 

ส่วนรายได้จะมาจากการบิน​ คาร์โก้​ ใน​ ไตรมาส1-2  จะมีการบินเชิงพาณิชย์​ใน​ ไตรมาส3 เปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไปที่ซูริค​ แฟรงเฟิร์ต ลอนดอน​ ปารีส​ ซูริก บรัสเซล โคเปนเฮเก้น เดลลี​ เฉิงตู​ มะนิลา​ เกาหลี​โตเกียว​ โอซาก้า​ นาริตะ ฮาเนดะ​ ซิดนีย์​ ซึ่งอาจจะมีการปรับลดความถี่​ ส่วนจีนยังอยู่ระหว่างการขอพิจารณา​  โดยมีเป้าไปเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง

สำหรับ มูลหนี้ของการบินไทยทั้งหมดอยู่ที่ราว 4.1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นมูลหนี้จริงประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งยืนยันไม่มีแฮร์คัทหนี้ หรือ การปรับลดมูลหนี้จากเจ้าหนี้ทุกราย แต่จะจ่ายเฉพาะเงินต้น รวมถึงไม่จ่ายหนี้ใน 3 ปีแรก​ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับเจ้าหนี้ โดยในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จะนัดเจ้าหนี้เพื่อหารือถึงแผนพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ จะขอเพิ่มทุนจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ภายใน 2 ปี เพื่อให้มีต้นทุนมาหมุนเวียนในกิจการ โดยในกลางปี 2564 หรือประมาณในเดือนกรกฎาคมนี้ ต้องหาเงินเข้าระบบ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินงาน และจ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออก โดยอาจจะใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงิน การหาพันธมิตรร่วมทุน และการแปลงหนี้เป็นทุน

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี กล่าวว่า​ภาพรวมจะวางแผนการทำธุรกิจการบิน​จะแยกออกเป็นบริษัทย่อยเช่น​ ครัวการบินไทย และคลังสินค้า 

อย่างไรก็ตามภายหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาล รวมถึงสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบินกลับมาขับเคลื่อนได้ในระดับค่อยๆฟื้น  สายการบินแห่งชาติของไทยเรา ก็น่าจะพร้อมที่จะกลับมาประกอบธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สาธารณชนคนไทยจะลืมเรื่องค้างคาของ การทุจริตที่ส่งผลให้การบินไทยตกต่ำขาดทุนมาโดยตลอด ว่ารัฐบาลและผู้บริหารแผนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้ชัดเจนและโปร่งใสในที่สุด