รัฐบาลทหารพม่าขู่ ‘ประท้วงถึงตาย’?!? จุดไฟแค้นนัดหยุดงานทั่วประเทศ EU ขู่เช็คบิล จับตาหนีตายทะลักชายแดนไทย

2863

รัฐบาลทหารเมียนมาเตือนผู้ประท้วงอาจถึงแก่ชีวิต แต่ประชาชนไม่หวั่น แห่ศพนัดหยุดงานและพากันลงถนนเพิ่มจำนวนมากกว่าเดิมมหาศาล  ขณะที่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นทุกขณะเสี่ยงเผชิญหน้า เพราะมีเสียชีวิต 4 คน ทั้งที่เนปิดอว์และมัณฑะเลย์ ฝั่งตะวันตกรีบเคลื่อนไหว ทั้งUN และEU ขู่จะเช็คบิลกองทัพ เรียกประชุมเตรียมขยับกดดันแข็งกร้าวเพิ่ม ส่วนไทยฝ่ายความมั่นคงตรึงกำลังชายแดนไทย-พม่าเข้ม ห้ามลา ห้ามหยุดหวั่นเกิดปะทะรุนแรงจะมีผู้หนีภัยสงครามทะลักเข้าไทย พาโควิด-19 มาระบาดเพิ่ม

สถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีของทางการเมียนมา ประกาศแถลงการณ์จากรัฐบาลเมียนมาเป็นภาษาพม่าพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษระบุ “ขณะนี้ผู้ประท้วงกำลังยุยงปลุกปั่นประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวอารมณ์ร้อน ไปสู่เส้นทางแห่งการเผชิญหน้าที่พวกเขาจะต้องสูญเสียชีวิตในที่สุด” แถลงการณ์ยังเตือนไม่ให้ผู้ประท้วงก่อจลาจลและอนาธิปไตย

คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีผู้เสียชีวิตช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยิงปืนสลายการชุมนุมมีผู้เสียชีวิต 2 คนในมัณฑะเลย์ คนที่ 3 ถูกยิงเข้าที่ศีรษะในนครย่างกุ้ง ส่วนผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงคนแรกเมื่อวันศุกร์ (19 ก.พ.) คือหญิงสาวที่ถูกยิงเมื่อหลายวันก่อนจนอาการสาหัสต้องเข้าโรงพยาบาลใช้เครื่องช่วยหายใจ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการเปิดเผยของพลจัตวาซอ มิน ตัน โฆษกกองทัพเมียนมา ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่วันก่อนอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ และได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ พร้อมกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นผู้ริเริ่มความรุนแรง ขณะที่สื่อของรัฐบาลเมียนมารายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำลายยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยไม้ มีด และอุปกรณ์ยิงหิน มีตำรวจบาดเจ็บ 8 นาย ทหารบาดเจ็บ 2-3 นาย ทั้งมีตำรวจเสียชีวิตจากบาดแผลจากการถูกผู้ชุมนุมทำร้าย 1 นาย

นายทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ กล่าวว่า เขากังวลมากกับคำขู่ของรัฐบาลทหาร

“ขอเตือนคณะทหารไว้เลยว่า ปีนี้ไม่เหมือนปี 2531 สิ่งที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงทำได้ถูกบันทึกไว้แล้ว และพวกคุณต้องรับผิดชอบ”

รมว.ต่างประเทศสหภาพยุโรปเรียกประชุมด่วนในวันนี้ 22 ก.พ.2564  เพื่อหารือมาตรการที่เหมาะสมต่อกองทัพเมียนมา

การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารที่เข้ามายึดอำนาจได้ขยายวงไปทั่วประเทศ ผู้คนหลากแขนงอาชีพผละงานประท้วงกันเต็มถนน ร้านค้าให้บริการปิดทำการ รัฐบาลส่งรถหุ้มเกราะออกวิ่งกลางถนนในกรุงย่างกุ้ง ด้านนักธุรกิจไทยที่ค้าขายลงทุนในพม่าต่างขยับเตรียมกลับประเทศถ้าสถานการณ์บานปลายเกิดปะทะกันและมีความรุนแรงเหมือนในอดีต

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ในเมียนมาเวลานี้บานปลายไปมากผู้คนผละงานออกมาชุมนุมประท้วงกันในวงกว้างทั่วประเทศ ทั้งในเมืองใหญ่ เมืองรอง หรือเมืองเล็ก ร้านค้าจำนวนมากปิดให้บริการ ธนาคารต้องปิด ธุรกรรมทางการเงินหยุดชะงัก ตู้เอทีเอ็มก็กดไม่ได้ ผลกระทบต่อเนื่องตามมาคือ ภาคการผลิตและบริการของคนไทยรวมถึงต่างชาติโดยส่วนใหญ่ต้องหยุดดำเนินการเพื่อความปลอดภัยไปโดยปริยาย

 “เวลานี้ภาคธุรกิจไทยที่อยู่ในเมียนมากว่า 150 บริษัท นักธุรกิจที่เหลืออยูที่นั่นประมาณ 300 กว่าคนก็เตรียมตัวกรณีสถานการณ์บานปลายรุนแรงก็คงต้องกลับบ้าน ซึ่งมีสถานทูตไทยในเมียนมาเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน หากกรณีที่มีความรุนแรงและหากจำเป็นต้องอพยพคน ที่คุยกันไว้ก็มี 3-4 ที่ที่จะเป็นจุดรวมพล คือที่สถานทูต ที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่สำนักงานซีพี” 

ล่าสุดยังส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมา เพราะจากผลพวงร้านค้าในเมียนมาต้องหยุดให้บริการจำนวนมาก ทำให้ลดคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย ราคาสินค้าในเมียนมาปรับตัวสูงขึ้น ชาวเมียนมาแย่งซื้อเงินดอลลาร์ เงินบาท รวมถึงสกุลเงินต่างชาติเพื่อตุนเงิน จากผลพวงทำให้ค่าเงินจ๊าดตก 

นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การค้าชายแดนไทย-เมียนมาฝั่งเชียงรายที่มีจุดการค้าหลักที่ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็กยังค้าขายกันตามปกติ รถยังวิ่งข้ามไปมาได้ ปัจจุบันหลังมีโควิดระบาดทำให้ยอดการค้าลดลงเหลือเฉลี่ย 30-40 ล้านบาทต่อวัน จากก่อนมีโควิดระบาดมียอดการค้าเฉลี่ยมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมภาพรวมค้าชายแดนใน 3 อำเภอรวม 6 ด่านถาวรของเชียงราย กับเมียนมา ลาว และจีนก่อนเกิดโควิดเฉลี่ย 5.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

 “สถานการณ์การเมืองในเมียนมายังน่าห่วง ซึ่งหอการค้าแม่สายและหอการค้าท่าขี้เหล็กมีการพูดคุยและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกันทุกวัน สถานการณ์ในเมียนมานับจากนี้คงต้องดูแบบวันต่อวัน เพราะค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก”

นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมาเวลานี้ได้ส่งผลกระทบด้านส่งออกและนำเข้าสินค้าไทย-เมียนมา จากพนักงานไปชุมุมประท้วง ทำให้ธนาคารในเมียนมาต้องปิดให้บริการ ส่งผลให้ธนาคารที่ย่างกุ้งไม่สามารถทำธุรกรรมในการโอนเงินมาที่เกาะสองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามจังหวัดระนองเพื่อชำระค่าสินค้าได้ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้ผู้ค้าทั้งสองฝ่ายขาดสภาพคล่องและกระทบต่อการค้าขาย และเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ จากที่ผ่านมาการค้าไทย-เมียนมาฝั่งระนองมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี