รัฐประหารที่เมียนมา-กองทัพพม่าคุมตัว’ออง ซาน ซูจี’และบุคคลระดับสูงพรรครัฐบาลแล้ว ตรึงกำลังทั่วเมืองเนปิดอว์ โดยปฏิบัติการจู่โจมช่วงเช้ามืด เปิดเผยโดยโฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) พรรครัฐบาลที่คว้าชัยชนะเหนือพรรคการเมืองฝักใฝ่ทหารอย่างถล่มทลายในเดือนพ.ย.2563 หลังศึกเลือกตั้งกองทัพกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง สัปดาห์ก่อนคณะทูตจากสหรัฐและอียูประสานเสียงUN แสดงท่าทีคัดค้าน ในที่สุดกองทัพยึดอำนาจ ความขัดแย้งร้าวลึกของรัฐบาลพลเรือนกับ ทหารมีสาเหตุจากอะไร ขณะที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียเด่นชัดขึ้น ตะวันตกโดยสหรัฐและสหภาพยุโรปกลับมีท่าทีปกป้องรัฐบาลพลเรือนอองซาน ซูจี เป็นความซับซ้อนของผลประโยชน์ทั้งการเมือง ความมั่นคงและการทหารที่ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความยากลำบากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่
วันนี้ (1 ก.พ.2564) วันแรกของการเปิดประชุมรัฐสภา เมียว ยุ้น (Myo Nyunt) โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเปิดเผยกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่านางอองซาน ซูจี, ประธานาธิบดีวิน มี้น และผู้นำคนอื่นๆ ถูกพาตัวไปในตอนเช้ามืด
ขณะที่สายโทรศัพท์ต่อไปยังกรุงเนปิดอว์ ไม่สามารถใช้งานได้ในตอนเช้าตรู่ของวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภาพม่ากำหนดเปิดประชุมกันเป็นวันแรก ขณะที่ MRTV สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐเขียนบนเฟซบุ๊ก บอกว่าไม่สามารถออกอากาศได้ สืบเนื่องจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิค ล่าสุดกองทัพเมียนมาได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และได้ส่งมอบอำนาจให้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย ควบคุมสถานการณ์เบ็ดเสร็จ
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพได้กล่าวหาว่ามีความผิดปกติอย่างกว้างขวางกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ชนะอย่างถล่มทลาย รัฐบาลพลเรือนอยู่ในข้อตกลงแบ่งปันอำนาจกับนายพลของกองทัพตั้งแต่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกของประเทศในปี 2558 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ทหารร่างขึ้น กองทัพระบุว่า รายชื่อดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจสอบความผิดปกติ และอ้างว่ามีการโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 8.6 ล้านคนทั่วประเทศ
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกคำแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหามีการโกงเลือกตั้ง คำแถลงของคณะกรรมการระบุว่า “ไม่สามารถที่จะสรุปเป็นสถานการณ์การโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงเพราะข้อบกพร่องในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้” และว่าสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อสอบสวนได้
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เดือนพ.ย.2563 เป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งที่ 2 ของพม่า นับตั้งแต่ประเทศหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554
การก้าวขึ้นสู่อำนาจของซูจีในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ปี 2558 ถูกควบคุมโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบางประการ เช่น บทบัญญัติที่ระบุห้ามพลเมืองที่สมรสกับชาวต่างชาติทำหน้าที่ประธานาธิบดี ซูจี ที่สมรสกับชาวอังกฤษ ได้หลบเลี่ยงบทบัญญัติดังกล่าวหลังชนะการเลือกตั้งปี 2558 ด้วยการทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ ตำแหน่งผู้นำโดยพฤตินัยที่รัฐบาลของเธอสร้างขึ้น จากนั้นพรรค NLD ยังผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยแรกของรัฐบาล แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ค่อยคืบหน้านัก
อย่างไรก็ตามสถานะของออง ซาน ซูจี ในเวทีระหว่างประเทศได้รับความเสียหาย หลังเธอเพิกเฉยต่อปฏิบัติการของกองทัพพม่า ที่ลงมือกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างหนักหน่วงในปี 2560 จนผู้คนนับแสนต้องอพยพหนีตายข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่เธอยังได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเกิดของเธอ
ก่อนหน้านี้โลกตะวันตกเชิดชู อองซาน ซูจีไว้ต้านอำนาจทหารพม่า เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาเล่นการเมืองได้บริหารประเทศ ชาติตะวันตกเริ่มก่นด่าอองซาน ซูจีว่าเข้าข้างทหาร ปล่อยให้มีการเข่นฆ่าโรฮินญา จนถูกฟ้องศาลโลก มาวันนี้เกมพลิกทหารยึดอำนาจจับอองซาน ซูจี โลกตะวันตกสหรัฐ ยุโรปกลับมายืนข้างอองซานอีก การเมืองโลกก็ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร จับตาผลกระทบกับประเทศไทย เราจะได้เห็น การเคลื่อนไหวการเมืองร้อนในไทย สอดรับการเคลื่อนไหวในพม่าด้วยเครือข่ายสงครามไฮบริด ของชาติตะวันตกที่แทรกแซงการเมืองการทหารในภูมิภาคอาเซียน รอบน่านน้ำทะเลจีนใต้ ท่ามกลางการระบาดโควิดระลอกใหม่ยังไม่คลี่คลาย