อาจารย์จุฬาฯ ชำแหละความจริงเบื้องลึก ที่มารัฐประหาร จับตัว “อองซาน ซูจี” กองทัพแตกฝ่าย ชะตากรรมการเมืองเมียนมาระส่ำ

8547

หลังจากที่มีการรายงาน การจับกุมตัวนาง “อองซาน ซูจี” ที่เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังเกิดความตึงเครียด ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อาจเกิดการรัฐประหาร โดยกองทัพเพื่อล้มรัฐบาล โดยอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนซึ่งพรรคของนางซู จี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

ขณะที่นายเมียว ยุนต์ โฆษกพรรคเอ็นแอลดี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า นางซูจี , นายอู วินมิ่นท์ ประธานาธิบดีเมียนมา และผู้นำคนอื่น ๆ ของเมียนมา ได้ถูกควบคุมตัวในช่วงเช้านี้ “ผมต้องการจะบอกกับประชาชนของเราว่าอย่าตอบโต้อย่างผลีผลาม และผมต้องการให้พวกเขาทำตามกฏหมาย” นายเมียวกล่าว และคาดว่าตัวเขาก็คงจะถูกควบคุมตัวด้วยเช่นกัน


ล่าสุดทางด้าน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างละเอียดว่า ว่าด้วยสถานการณ์ใน เมียนมา

เราต้องเข้าใจ #สมการแห่งอำนาจ ในเมียนมา

เท่าที่ผมพอจะเข้าใจคือ เดิม NLD และกองทัพ
ต่างก็ต้องหวังพึ่งซึ่งกันและกัน แต่ในระยะหลังกองทัพเองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนัก

ในอดีตกองทัพสนิทสนมกับจีน ว่าด้วยผลประโยชน์หลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในระยะหลัง เมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เรื่อง ชนกลุ่มน้อยโกก้างในรัฐฉานติดชายแดนจีนทำให้หลายฝ่ายมองจีนเป็นภัยความมั่นคง

อีกด้านของพรมแดน ทางตะวันตก ปัญหาเรื่องเบงกาลี-โรฮิงญา ที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก็ทำให้ หลาย ๆ ฝ่ายในประเทศกังวล


กองทัพคบจีนก็น่ากังวล
รัฐบาลคบตะวันตกก็น่ากังวล
ดังนั้นกองทัพกับรัฐบาลที่เคยต้องพึ่งพากันเหมือนเครื่องหมายหยิน-หยาง ที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ่วงดุลกัน จึงเสียสมดุล

ประกอบกับ ในกลุ่มกองทัพเอง ระหว่างกลุ่มอาวุโส กับกลุ่มรุ่นใหม่ ก็ดูจะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อก่อนอาจจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ภายหลังเองหลังจากที่กองทัพบางหน่วยได้รับการสนับสนุนจาก อินเดีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐ ในยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก และเป็นคู่กรณีกับจีน) โดยเฉพาะเรื่อง เรือดำน้ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเองก็ได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนโควิดจากอินเดีย

นั่นทำให้ดุลอำนาจ และการพึ่งพาระหว่างจีน ตะวันตก และผู้เล่นใหม่คือ อินเดียเสียสมดุล และสมดุลเดิมระหว่าง NLD และกองทัพ (ซึ่งมี USDP เป็นตัวแทน) ก็เสียสมดุล เพราะกองทัพ มีความแตกตัวออกเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มนายทหารอาวุโส (สนิทจีน) กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่ยอมรับ NLD มากขึ้น กลุ่มทหารที่ต้องการคบคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จีน

และต้องอย่าลืมว่าเมื่อช่วงกลางปีของปีที่แล้ว นายพลอาวุโส “มิน อ่อง ลาย” ก็เพิ่งจะแต่งตั้งนายทหารรุ่นใหม่ให้มีตำแหน่งระดับนายพล และมีหน้าที่คุมกำลังและคุมอาวุธยุทโธปกร โดยเฉพาะตำแหน่งที่หลายฝ่ายจับตาคือ ตำแหน่งของ Major General Kyaw Swar Lin ซึ่งถือเป็นนายพลที่อายุน้อยที่สุดในกองทัพเพียง 49 ปี และยังเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 35 ซึ่งถือว่าเด็กมาก และเป็นการแต่งตั้งข้ามหัวรุ่นพี่จำนวนมาก เพราะตำแหน่งในระดับนี้ปกติน่าจะเป็นตำแหน่งของนายพลที่เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 24-27 ไม่ใช่ข้ามมารุ่น 35 แต่แน่นอนว่า Kyaw Swar Lin คือเด็กสร้างของมินอ่องลายที่จะทำให้เขาแน่ใจว่า หลังจากที่เขาเกษียณอายุ เขาจะไม่ถูกเช็คบิลแน่ ๆ เราเห็นรอยร้าวชัดเจนในกองทัพ


และจากประวัติศาสตร์เมื่อเสถียรภาพในกองทัพไม่มี การออกมาแสดงกำลังมักจะเกิดขึ้น เช่น หลัง 8888 ทหารฝ่ายเนวิน ถูกโค่นโดยฝ่ายตานฉ่วย หรือในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ตานฉ่วยก็โค่นตัวแทนของตนเองอย่างโซ่วิ่น-หม่องเอ แล้วแต่งตั้งเต็งเส่ง

และในอนาคตอันใกล้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง ลาย ก็กำลังจะเกษียณอายุ ในเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้นการที่จะต้องกระชับอำนาจ ถ้าจะต้องทำ ก็ต้องรีบทำตอนนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า ได้มีขบวนรถบรรทุกขนาดเล็ก 50 -60 คัน นำกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค USDP เข้าสู่กรุงเนปิดอ โดยผู้สนับสนุนพรรค USDPราว 500 คน ถือธงพรรค USDP และเดินประท้วง กกต. จากบริเวณหน้าที่ทำการพรรค USDP กรุงเนปิดอ ไปยังหน้าศาลฎีกาเมียนมา ซึ่งมีตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ผู้ชุมนุมบางคนโยนอิฐก่อสร้างใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรงอื่น ๆ ภายหลังเกิดการชุมนุม ได้มีการควบคุมยานพาหนะเข้ากรุงเนปิดอจากกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์

อย่างไรก็ตามได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม โดยคณะผู้แทน EU สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำเมียนมา 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก เช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ในกรุงย่างกุ้ง เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาและทุกฝ่าย ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และคัดค้านความพยายามใด ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือสร้างอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา

เลขาธิการสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการล่าสุดในเมียนมา ขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการยุยง ยึดมั่นในบรรทัดฐานประชาธิปไตย และเคารพผลการเลือกตั้ง รวมถึงใช้กลไกทางกฎหมายที่มีในการแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ขอให้ชุมชนไทยติดตามข่าวสารในช่องทางที่สะดวกด้วยความเข้าใจ หากมีประเด็นใดที่อาจกระทบต่อการพักอาศัยในเมียนมา สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ตลอดเวลา หมายเลขที่ติดต่อได้คือ 097 97 00 2801