“อาจารย์สมชัย” แจงชัดยุทธศาสตร์จัดหาวัคซีน จ่ายแพง-จองเร็ว ไม่ได้การันตีประสิทธิภาพ คนไทยโชคดีได้ตัวของแอสตร้าฯ มาใช้และพัฒนาต่อ

1833

ดร.สมชัย​ จิตสุชน​ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง​สถาบัน​วิจัย​เพื่อ​การพัฒ​นาประเทศ​ไทย​ (ทีดีอาร์​ไอ)​ ได้โพสต์​เฟซบุ๊ก Somchai Jitsuchon ​แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็น​เรื่องจัดหาวัคซีน​โควิด-19​ โดยมีเนื้อหา ระบุดังนี้

สืบเนื่องจากโพสต์ก่อนหน้าของผมที่เน้นอธิบายเรื่องราคาวัคซีนที่ไทยซื้อนำไปสู่ความเห็นแย้งที่น่าสนใจบางประการ จึงขอเพิ่มเติมคำอธิบายและความเห็นส่วนตัวผมในภาพกว้างขึ้นดังนี้

1. โพสต์ที่แล้วมีความตั้งใจอธิบายสิ่งที่ผมตีความได้จากการเห็นการทำงานของทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ‘ระดับทำงาน’ ในเรื่องการจัดหาวัคซีนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดระดับหนึ่ง (ไม่ใช่วงในมาก แต่ก็ไม่ใช่วงนอกเสียทีเดียว) และรู้สึกว่ามีข้อวิจารณ์บางข้อที่อาจทำให้คนทำงานเสียกำลังใจอย่างไม่ควรเป็น หลายคนทำงานหนักมาก แทบไม่ได้พักผ่อนติดต่อกันหลายเดือน

2. อยากสร้างความเข้าใจแต่ต้นว่าวิธีการ/ยุทธศาสตร์ที่ ‘เหมาะสมที่สุด’ ของการจัดหาวัคซีนโควิดเป็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของโรค ธรรมชาติของวัคซีน และธรรมชาติของผลกระทบทางเศรษฐกิจและ สังคมจากการมีหรือไม่มีวัคซีน มีเรื่องที่เราไม่รู้และมีความไม่แน่นอนสูงทั้งสิ้น เรื่องที่คิดว่าวางแผนได้ดิบดีแล้วอาจกลายเป็นไม่ใช่ดีที่สุด และบางทีโชคดีได้ผลดีทั้งที่อาจวางแผนไม่รอบด้านก็เป็นได้ (ของไทยมีทั้งสองแบบ) นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดก็อาจดำเนินการไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดบางประการ ทั้งข้อจำกัดที่เราสร้างขึ้นเอง (ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงเรายังทำงานไม่ดีพอ) หรือข้อจำกัดที่เราไม่ได้สร้างขึ้น

3. คำถามสำคัญที่ผมได้รับใน comments ของโพสต์ก่อนคือ หากเราวางยุทธศาสตร์วัคซีนได้ดีจริง ทำไมเราได้วัคซีนช้ากว่าบางประเทศ เช่นสิงคโปร์ (และน่าจะมีอีกหลายประเทศที่ได้เร็วกว่าหรือในปริมาณมากกว่าเรา) และหากคิดถึงความเสียหายจากความจำเป็นต้อง lock down และผลกระทบต่อประชาชน รวมคนจน กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่จะหนักหนากว่ากรณีได้วัคซีนเร็วและเพียงพอ ตามหลักตรรกะแล้วเราควรทุ่มงบประมาณมากกว่านี้ ไม่เกี่ยงราคามากนัก และยอม ‘แทงม้า’ หลายตัวแม้จะสูญเงินเสียเปล่ากับม้าบางตัวก็คุ้ม วิธีคิดแบบนี้เอกชนเขาทำกันเป็นเรื่องปกติ เหมือนคนซื้อประกันวินาศภัยที่โอกาสเกิดไม่แน่นอนแต่ถ้าเกิดความสูญเสียจะมาก

4. โดยหลักการแล้วผมเห็นด้วยกับวิธีคิดแบบข้อ 3 ข้างต้น ผมเองเคยแสดงความเห็นในแนวทางเดียวกันนี้กับบางการประชุมเรื่องวัคซีนที่มีโอกาสร่วม และรู้สึกไม่ถูกใจอย่างมากที่ได้เรียนรู้ว่าการคิดแบบเอกชนดังกล่าวทำได้ยากมากในกลไกภาครัฐของประเทศไทย ข้อจำกัดที่สำคัญคือระบบงบประมาณและกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ไม่เอื้อให้สามารถ ‘แทงม้า’ ได้ตามใจชอบ เพราะไม่อนุญาตให้ซื้อของที่อาจไม่ได้ของหรือไม่ได้ใช้ ข้อจำกัดนี้คนทำงานหลายคนก็เพิ่งรู้ตอนจะต้องตัดสินใจเจรจาเพื่อวางเงิน ‘แทงม้า’

กับบริษัที่กำลังพัฒนาวัคซีนตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และเมื่อรู้แล้วก็พยายามช่วยกันขบคิดว่าจะทะลุทะลวงข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง ผมเองได้เสนอแนะครั้งหนี่งว่าให้นำเรื่องนี้สู่ผู้บริหารระดับสูงของประเทศเพื่อให้ช่วยหาทางออก (ซึ่งก็ทราบภายหลังว่ามีการพูดคุยในระดับสูงจริง) หรือกระทั่งจะต้องรีบแก้กฎหมายในสภาก็ยังจะดีกว่า ในที่สุดหลังจากการวิ่งวุ่นอยู่หลายเดือนก็ยังคงต้องใช้ทางออกว่าแม้จะซื้อแบบแทงม้าไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการจองสามารถทำได้ ก็เลยเกิดการจองซื้อจาก AstraZeneca ขึ้นได้ แม้จะดูเหมือนจะต้องเล่นเป็นศรีธนนชัยในทางกฎหมายก็ตาม

5. กระทั่งตอนนี้ผมเองก็ยังหงุดหงิดใจกับข้อจำกัดและทางออกในข้อ 4 (เคยเขียน FB ระบายความขัดข้องใจนี้มาแล้ว) และคิดว่าเราสามารถสรุปได้ว่าภาครัฐไทยยังมี ‘ประสิทธิภาพ’ น้อยกว่าอีกหลายประเทศ (อย่างสิงคโปร์) จริง ทำให้มีทางเลือกในยุทธวิธีน้อยกว่าที่ควรมีในการจัดการกับปัญหาที่มีโอกาสเกิดความเสียหายมากและมีความไม่แน่นอนสูง เรื่องนี้สอดคล้องกับที่ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงหลายครั้งว่าประเทศไทยไม่ต้องไปพยายามปฏิรูปอะไรหรอก เพราะไม่มีทางสำเร็จถ้ายังไม่สามารถปฏิรูประบบราชการได้

6. การสรุปว่าภาครัฐมีปัญหามิได้ต้องการชี้นิ้วไปที่ตัวบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เพราะเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ผู้นำประเทศหลายยุคสมัย (จากหลายฝักหลายฝ่าย) ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพขึ้น เพียงแต่อยากบ่งชี้ว่าควรเห็นใจระดับคนทำงานที่ต้องเผชิญข้อจำกัดนี้

7. แต่มาลองคิดว่าถ้าเกิดรัฐไทยทำอย่างสิงคโปร์ (หรือเอกชน) ได้จริง คือจ่ายเงินจำนวนมากในการแทงม้าหลายตัว และแย่งแทงให้เร็ว ก็มิได้รับประกันว่าเราจะได้ดีลที่อยากได้จริง เพราะอย่างที่เคยเขียนใน FB ก่อนหน้าว่าบริษัทผลิตวัคซีนทุกบริษัท (ไม่ว่าที่พอจะสำเร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างรอผลระยะสามเบื้องต้น) ล้วนมีข้อจำกัดในกำลังการผลิตไม่สามารถตอบสนองการแย่งกันซื้อได้ ดังนั้นหากทุกประเทศใช้ยุทธวิธีแบบข้อ 3 ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะได้ผลลัพธิ์ตามที่ต้องการ โดยส่วนใหญ่ประเทศร่ำรวยและประเทศที่มีข้อจำกัดในการเจรจาน้อยกว่าจะมีโอกาสสำเร็จกว่า (ได้ยินมาว่าหลายบริษัทใหญ่ที่เราเคยลองติดต่อเขา เขาไม่สนใจเราเท่าไรแต่แรก)

8. และอย่างที่กล่าวไว้ในข้อ 2 ว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในเรื่องธรรมชาติของวัคซีน ซึ่งอาจเป็นได้ว่าวัคซีนที่คิดว่า ‘สำเร็จ’ บางตัวอาจไม่ช่วยป้องกันการระบาดได้ (และยังไม่รู้ว่าตัวไหนช่วยตัวไหนไม่ช่วย) ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ต้อง lock down ก็อาจไม่เห็นหรือไม่มากอย่างที่หวัง

9. อย่างไรก็ตามสถานการณ์ด้านการพัฒนาและผลิตวัคซีนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข้อจำกัดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เคยเจอมาก็น่าจะผ่อนคลายลง supply ของวัคซีนก็น่าจะมีอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำตอนนี้คือเร่งศึกษาและเร่งหาวัคซีนที่พอจะไว้ใจในประสิทธิภาพการป้องกันโรค ประสิทธิภาพการป้องกันการระบาด และความปลอดภัยจากทุกแหล่งที่สามารถหาได้ รวมถึงอาจยอมจ่ายราคาที่เหมาะสม คือไม่แพงไป แต่ก็ไม่ต้องเกี่ยงว่าต้องถูกสุด

10. ส่วนกรณีบริษัท siam bioscience ผมไม่มีข้อมูลวงในมากพอที่จะตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง แต่คิดว่าการตั้งคำถามและการตอบคำถามจากบางฝ่ายสามารถมีคุณภาพมากขึ้นได้ และเห็นด้วยว่าความครบถ้วนและโปร่งใสของข้อมูลจะช่วยทำให้เราเห็นความกระจ่างในเรื่องนี้ได้

ที่มา : Somchai Jitsuchon