อาจารย์มธ. “ชำแหละ “รัฐประหารเมียนมา” ทำไมกองทัพต้องการตัดวงจรประชาธิปไตย เปิดวัฏจักรชีวิตของซูจี วนลูปโดนกักตัว เพราะสู้กับรัฐบาลทหาร

2906

หลังจากที่กองทัพเมียนมา ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของ นางอองซาน ซูจี รวมทั้งควบคุมตัวไว้ในบ้านพักในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

สถานการณ์โดยรวมของเมียนมาตอนนี้ ถือว่าอยู่ในความสงบ มีทหารเดินตรวจตราตามเมืองใหญ่ และมีการบังคับใช้คำสั่งเคอร์ฟิวตอนกลางคืน ขณะที่ระบบสื่อสารที่ถูกตัดขาดไปช่วงรัฐประหาร จนกลับมาใช้การได้ในเมื่อเช้าวันอังคารที่ 2 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

ต่อมาได้มีการรวมกลุ่มประท้วงของหมอ และบุคคลากรทางการแพทย์ ในช่วงที่เชื้อโควิด-19 ยังคร่าชีวิตของประชากรเมียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยดร.เมียว เตต อู หมอที่ร่วมในการอารยขัดขืน บอกกับสำนักข่าว รอยเตอร์ส ว่า “เราไม่สามารถยอมรับเผด็จการ และรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ พวกเขาจับกุมเราได้ทุกเวลา เราจึงตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับมัน พวกเราทุกคนตัดสินใจที่จะไม่ไปโรงพยาบาล”


ล่าสุด ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองของเมียนมา

ได้เปิดเผยว่าเบื้องลึก เบื้อหลัง อย่างเข้มข้น เกี่ยวกับการทำรัฐประหารของเมียนมา ระบุว่า เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยสะสม กล่าวคือเมียนมามีการปกครองด้วยระบอบทหารมายาวนาน ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยแต่ก็ยังควบคุมโดยกองทัพ เพียงแต่ในระยะหลัง ๆ ฝั่งพลเรือนมีอำนาจมากขึ้น จนกองทัพเริ่มไม่สามารถควบคุมภูมิทัศน์การเมืองได้ถนัดมือนัก

2. ปัจจัยกระตุ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากประชาชน จนทำให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USPD) ที่หนุนโดยกองทัพไม่สามารถสู้ได้ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นั่นทำให้กองทัพจำเป็นต้องตัดวงจรไม่ให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยสามารถสยายปีกได้ต่อไป ด้วยการสร้างรัฐทหารชั่วคราว จับกุมผู้นำ และประกาศสภาวะฉุกเฉิน

“การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้นก็ถูกเปลี่ยนโดยชนชั้นนำทหาร เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ในเร็วพลัน สิ่งที่รัฐบาลทหารต้องการคือการมีประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2551 ของเมียนมาก็ยังมีตัวแทนจากกองทัพซึ่งก็เป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์เข้าไปถ่วงดุลกับรัฐบาลพลเรือน”


ฝ่ายกองทัพระบุถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้ว่าการเลือกตั้งที่จัดตั้งภายใต้รัฐบาล NLD มีความไม่ชอบมาพากล ไม่โปร่งใส เกิดสถานการณ์การสู้รบ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้บางพื้นที่ไม่สามาถจัดการเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักมากถึงขนาดต้องทำการรัฐประหาร

สิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่งในการทำรัฐประหารครั้งนี้ คือกองทัพทหารเมียนมา พยายามทำให้รูปแบบการรัฐประหารอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยกมาตรา 417 ในรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยกองทัพ ระบุว่า ประธานาธิบดีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสามารถถ่ายโอนอำนาจให้กับกองทัพได้ ส่งผลให้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ถูกแทนที่โดยโครงสร้างของกองทัพซึ่งก็ไม่ได้ขัดตามหลักกฎหมาย

“ผมตั้งข้อสังเกตได้ว่าในมาตรา 417 ได้พูดถึงการประกาศสภาวะฉุกเฉินว่าต้องเกิดอันตรายต่ออธิปไตยแห่งรัฐ เช่น มีการรุกรานจากกองกำลังต่างชาติ เกิดสงครามกลางเมือง หรือมีเหตุการณ์รุนแรง แต่ที่ผ่านมาในประเทศเมียนมาก็ไม่ได้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น”

ในเรื่องของความรุนแรงของสถานการณ์นั้น เนื่องจากเริ่มมีกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินถอยหลัง ส่วนตัวมองว่าฝ่ายที่ยึดอำนาจในครั้งนี้เตรียมการณ์รับมือไว้แล้วว่าจะต้องถูกกดดันจากนานาชาติ และมีการเคลื่อนขบวนของประชาชน ซึ่งกองทัพเมียนมาเองมีความช่ำชอง ในการตั้งรับการประท้วง และรู้จักยุทธ์ศาสตร์ในเมืองเนปิดอว์ซึ่งเป็นจุดที่มีการยึดอำนาจ

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะออกมาประท้วง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบของถนนขนาดใหญ่ และสถานที่ราชการที่ตั้งห่างกันพอสมควร ภูมิทัศน์เหล่านั้นค่อนข้างเอื้อให้กับกลุ่มกองทัพมากกว่าในการส่งรถถังไปในภูมิทัศน์ที่กว้างกว่าเพื่อล้อมกรอบประชาชน

ส่วนผลกระทบจากการทำรัฐประหารต่อประเทศไทยนั้น ส่วนตัวมองถึงเรื่องของกระบวนการสันติภาพ กับกระบวนการติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งก็มีไม่น้อยตามตะเข็บชายแดนไทย – เมียนมา การรัฐประหารอาจทำให้กระบวนการเหล่านี้สะดุดลงเนื่องจากกองทัพเข้ามายึดอำนาจ

แต่ก็มีเรื่องของการปิด-เปิดด่านการค้าชายแดน ซึ่งมีผลต่อการขนส่งสินค้าและบริการ นอกจากกนี้อาจจะต้องดูถึงสัญญาต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจและเอกชนไทยเข้าไปติดต่อเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแบบฉับพลันซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

สำหรับโรคระบาดโควิด-19 ทางกองทัพไทยก็ได้มีการตรึงกำลังมากขึ้นเพื่อป้องการหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งผู้ติดเชื้อในเมียนมาก็มีตัวเลขที่ค่อนข้างสูง รวมไปถึงผู้ลี้ภัย นักกิจกรรมทางการเมืองที่อาจจะลอบเข้ามาได้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีรายงานเป็นที่แน่ชัด ในอนาคตด็ต้องจับตาดูว่าสถานณ์ว่าจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวของ ผศ.ดร.ดุลยภาค ที่บอกไว้ว่า “ตัวแบบของทหารไทยในอดีต มีผลต่อมุมคิดของทหารเมียนมา แต่ขณะเดียวกันกลยุทธ์ของทหารเมียนมามีผลต่อมุมคิดของทหารไทย เราเห็นได้ชัด แม้กระทั่งนายพลมินอ่องหล่าย กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ช่วงการปกครองของท่านก็เป็นเปรมาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็น Hybrid เขาก็ยังเป็นบิดาและบุตรบุญธรรมซึ่งกันและกันเลย ระหว่างเปรมและมินอ่องหล่าย แล้วไฉนเลย จะไม่มีการเรียนรู้ชื่นชมตัวแบบซึ่งกันและกัน”


ขณะที่การรัฐประหารเมียนมาในครั้งนี้ที่เกิดขึ้น นางอองซาน ซูจี ได้ถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านพักในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าตัวได้ถูกกักตัว เป็นเวลาถึง 15 ปี โดยวัฏจักรชีวิตของนางซูจี ได้ถูกกักตัว ก่อนจะขึ้นสู่อำนาจ ชนะการเลือกตั้ง และนำมาสู่การเกิดรัฐประหาร ซึ่งชีวิตของนางออง ซาน ซูจี ถูกกักตัวในบ้านพักเกือบ 15 ปี ระหว่างปี 1989-2010 ความพยายามในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของซูจี ทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ด้วยอารยะขัดขืน แม้จะถูกกดดันอย่างหนักก็ตาม

แต่เส้นทางการเมืองของซูจี ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแม้นางซูจีจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 2015 มาได้ แต่รัฐธรรมนูญของเมียนมา ก็ปิดกั้นโอกาสที่เธอจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เพราะลูกของเธอเป็นชาวต่างชาติ แต่นางซูจีวัย 75 ปี ในตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐก็ยังนับเป็นผู้นำประเทศในทางพฤตินัย

โดยมีนายวิน มินต์ เป็นประธานาธิบดีตัวแทนของเธอ ปี 2020 พรรคเอ็นแอลดีของนางซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง โดยได้คะแนนโหวตสูงกว่าการเลือกตั้งปี 2015 แต่กองทัพเมียนมาระบุว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น จนเป็นข้ออ้างนำไปสู่การรัฐประหาร

นางออง ซาน ซูจี เป็นบุตรสาวของนายพลออง ซาน วีรบุรุษผู้เรียกร้องเอกราชของชาวเมียนมา ซึ่งถูกลอบสังหารตั้งแต่นางออง ซาน ซูจีอายุได้เพียง 2 ขวบ นับตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1948

ในปี 1960 นางซูจีเดินทางไปอินเดียกับดอว์ขิ่นกี แม่ของเธอ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทูตของเมียนมาในกรุงเดลี

4 ปีต่อมา ซูจีเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร โดยศึกษาด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ และที่นี่ คือสถานที่ที่ซูจีได้พบรักกับ ไมเคิล อริส นักวิชาการชาวทิเบต จากนั้นทั้งคู่ได้ตั้งรกรากที่อังกฤษเพื่อเลี้ยงดูลูกชาย 2 คนคือ อเล็กซานเดอร์ และคิม แต่เจ้าตัวก็ยังคงระลึกถึงเมียนมาบ้านเกิดอยู่เสมอ

เมื่อได้มีโอกาสเดินทางกลับมายังย่างกุ้งในปี 1988 เพื่อมาดูแลแม่ที่ป่วยหนัก ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาพอดี นักเรียนนักศึกษาหลายพันคน พนักงานออฟฟิศ รวมทั้งพระสงฆ์ ต่างออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนน และนางซูจีก็ได้เข้าร่วมเป็นผู้นำการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารในยุคสมัยนายพลเนวิน โดยเธอกล่าวสุนทรพจน์ในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ว่า “ฉันคงไม่สามารถเป็นลูกสาวของพ่อได้ หากยังคงเฉยเมยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้”

ตั้งแต่ ปี 2532-2546 “ซูจี” ถูกกักบริเวณ และได้รับการปล่อยตัว วนลูปอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2553 ได้รับการปล่อยตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งการถูกจับกักบริเวณแต่ละครั้ง ล้วนเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารทั้งสิ้น

 

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าสาเหตุที่แท้จริง ที่เกิดการรัฐประหารในครั้งนี้ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้ง แต่อาจจะเป็นเพราะการก้าวเดินของพรรค NLD ที่ได้มีแนวทางหลัก ๆ 3 เรื่องคือ

1. การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2. การต้องปฏิรูปเพื่อลดบทบาทของกองทัพ

3. การต้องการแก้สถาภาพประเทศจากสหภาพเมียนมาร์สู่สหพันธรัฐเมียนมา