กกร.-หอการค้าจี้รัฐบาลเยียวยาโควิดด่วน?!? หนุน “เราไม่ทิ้งกัน-คนละครึ่ง”เพิ่มวงเงิน 5,000 บาทเพิ่มเวลา 6 เดือน

1638

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  ประเมินว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ในเวลา 1 เดือน ทำให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยได้รับความสูญเสียประมาณ 45,000 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ COVID-19 รอบใหม่ ซึ่งเริ่มจากตลาดกลาง​กุ้งที่ จ.สมุทรสาคร และนำมาสู่การล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาครและอื่นๆเฉพาะแห่งชั่วคราว เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2563 ถึงวันที่ 3 ม.ค.2564 และยังพบผู้ติดเชื้อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัด ขณะที่ภาคเอกชนหนุน เราไม่ทิ้งกันและคนละครึ่ง รอลุ้นนายกฯเรียกประชุมทีมเศรษฐกิจด่วน เตรียมชงมาตรการเยียวยาครม.พรุ่งนี้

บิ๊กตู่เร่งคลอดมาตรการเยียวยา

วันนี้ (11 ม.ค.) เวลาประมาณ 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล  เล็งคลอดมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 โดยกระทรวงการคลัง – สภาพัฒน์ – สำนักงบฯ – กระทรวงพลังงานร่วมถกด่วน เล็งออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพื่อเสนอแพคเกจเข้า ครม.พรุ่งนี้(12 ม.ค.2564) ประกอบไปด้วยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ,นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายกุลลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมประชุม 

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวภายหลังการประชุมกับนายกรัฐมนตรีว่า “มาตรการจะเข้า ครม.พรุ่งนี้ จะมีการแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้ง” ก่อนหน้านี้รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานกล่าวว่าขอเวลาในการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ก่อนว่าผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้างมากเพียงใดและจะมีการรับฟังจากหน่วยงานต่างๆว่ามาตรการที่ควรจะเสนอให้ ครม.พิจารณามีอะไรบ้าง  

ภาคเอกชนคณะกรรมการร่วมสามฝ่ายเสนอนายกฯ

กกร.(คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสมาคมธนาคารไทย) เสนอ4 มาตรการที่ภาครัฐควรเร่งหามาตรการ ควบคุมโรคระบาดและช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ  ประกอบด้วย 

1.การเร่งควบคุมการแพร่ระบาดและบังคับใช้มาตรการต่างๆที่ประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด มีการโฟกัสไปถึงต้นตอการแพร่กระจายให้ชัดเจน และควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสมเพื่อระงับการแพร่ระบาด และเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน

  1. เร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 2 แสนล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ซึ่งอาจเป็นการต่ออายุโครงการคนละครึ่งและเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5%รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Asset Warehousing และ บสย. อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. เร่งรัดเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอรวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจาย การขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม
  3. เร่งรัดการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันลงนามข้อตกลง RCEP ในการประชุมรัฐสภา เพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย. 63 มีผลบังคับใช้กลางปีนี้ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง

ภาควิชาการเสนอนายกฯเร่งช่วยอาชีพอิสระเร่งสะกัดหนี้ครัวเรือนพุ่ง

หอการค้าไทยชี้โควิด-19 พ่นพิษเศรษฐกิจ กระทบหนี้ครัวเรือนสูง 4.8 แสนบาทต่อครัวเรือน ขยายตัว 42% สูงสุดในรอบ 12 ปี แนะรัฐเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คุมการแพร่ระบาด และวางมาตรการเยียวยา ด้านดัชนีความเชื่อมั่น ธ.ค.ปรับลดเหลือ 23.7

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือน ธ.ค. 2563 และสถานภาพหนี้ครัวเรือนปี 2563 และแนวโน้ม โดยระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 1 พันราย พบว่าจำนวนหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนและการผ่อนชำระในปี 2563 พบว่ามีสุงถึง 483,950.84 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งขยายตัวสูงถึง 42.3%

โดยปัจจัยที่ทำให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน และรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งหอการค้าไทยประเมินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว พบว่ายังเป็นการก่อหนี้ใหม่สูงมากกว่า 70% เป็นผลมาจากการเกิดโรคโควิด -19 เศรษฐกิจไม่ดี และมีหนี้เพิ่มเยอะขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาชำระหนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี สูงถึง 72.1% รองลงมาคือ ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ 59.4% รายได้ที่รับลดลง 54.8% และการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 สูงถึง 55% อย่างไรก็ดี การก่อหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่กว่า 70% จะเป็นหนี้ก้อนใหม่และรวมถึงหนี้ก้อนเก่าและก้อนใหม่ แต่ยังพบว่าหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 75.3% ขณะที่หนี้นอกระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 24.7%

“หอการค้าไทยมีความเป็นห่วงในปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ 4.8 แสนบาทต่อครัวเรือนนั้น ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 2552 และยังขยายตัวสูงถึง 42% ซึ่งในปีอื่นไม่เคยสูงเช่นนี้มาก่อน แต่แม้ว่าหอการค้าไทยจะห่วงภาวะหนี้ครัวเรือน แต่ก็ยังเชื่อว่าตะสามารถคุมได้ เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบ”

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน คือ การวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เอกชนเสนอแนะ รวมทั้งควรเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อีกทั้งหากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลต้องเยียวยาผู้มีอาชีพอิสระ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ และมีการก่อหนี้ครัวเรือนสูง