ก้าวหน้า ตรรกะป่วยหนัก โดดโหน “พิมรี่พาย” ป้องชาวบ้านบุกป่าสงวน ร้องความสนใจให้แม่สมพร

2515

หลังจากที่ “พิมรี่พาย” หรือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์ฝีปากกล้า และยังเป็นยูทูปเปอร์ชื่อดัง ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และตัดสินใจควักเงินจำนวนส่วนตัว จำนวน 5 แสนกว่าบาท ไปติดตั้งไฟฟ้าโซลาเซลล์และมอบทีวีให้เด็ก ๆ

โดยพิมรี่พาย ยังบอกอีกว่า ต่อไปนี้ให้เปิดทีวีดูได้ตลอด ในนี้มีอาชีพมากมาย เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้มีความฝันในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ในอนาคต

ขณะที่ในเวลาต่อมา ได้มีบางคนนำประเด็นนี้ มาใช้หมิ่นพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นด้วยมีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่โพสต์ข้อความว่า “พิมรี่พายขึ้นดอยครั้งเดียวเด็กมีไฟฟ้าใช้ แต่…ขึ้นดอยมา 70 ปี …// ไม่พูดดีกว่า” ต่อมาเมื่อมีตรวจสอบ พบว่าเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง

และได้เกิดกระแสดราม่าต่าง ๆ ตามมามากมาย จนพิมรี่พาย ได้ไลฟ์สดชี้แจงถึงประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น โดยสรุปใจความได้ดังนี้ ตนเองมีเจตนาดีที่จะช่วยเหลือเด็ก ๆ บนดอย แค่อยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน มั่นใจว่าไม่ได้มีเจตนาอะไรที่ไม่ดี พร้อมฝากไปถึงคนที่รักพิมรี่พายว่า “ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องสงสาร ไม่ต้องให้กำลังใจ ไม่ต้อง save พิมรี่พาย มั่นใจว่าทำความดี ไม่ได้ทำอะไรผิด เจตนาดี

นอกจากนี้ยังบอกทิ้งท้ายอีกว่า ดราม่าอะไรกัน เอาไปโยงทำไม เอาไปเป็นเครื่องมือความสนุกให้คนทะเลาะกันทำไม เอาไปโยง here อะไรนักหนา แล้วอย่างนี้คนที่ทำความดีเขาจะทำต่อได้มั้ย เงินก็หาเอง แจกเอง ไม่ต้องสอน

ก่อนจะมีคอมเมนต์เข้ามาว่าเธอตั้งใจบิดเบือนสังคมให้เข้าใจผิด พิมรี่พาย ได้ชี้แจงว่า ให้กลับไปดูคลิปใหม่ เธอไม่ได้เป็นคนพูด เรื่องราวถูกเล่าโดยภาพและคนในพื้นที่ และก่อนที่จะเริ่มขายของ พิมรี่พายยืนยันว่าเธอจะทำอาชีพตัวเองต่อ และจะเดินหน้าทำความดีต่อ คอนเทนต์ความดีที่เตรียมไว้ยังมีอีกเยอะเป็นหน้ากระดาษ

“ทำบุญแผ่นดินเกิดมีข้อครหา ปักธงทำบุญโปรตุเกส ตุรกีไปเลย” นี่คือคำพูดที่เจ้าตัวได้กล่าวทิ้งท้ายปิดไลฟ์ชี้แจงดราม่าร้อนเอาไว้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : อยากทำคอนเทนต์สร้างภาพดีๆ? “พิมรี่พาย” ของขึ้น เปิดปากตอบดราม่าช่วยเด็กดอย ด่ากราดฟาดหน้าชา แก๊ง 3 นิ้ว ห้อยโหนหมิ่นพระเกียรติร.9

ล่าสุดในเพจเฟซบุ๊ก ของคณะก้าวหน้า – Progressive Movement ได้โพสต์ถึงประเด็นนี้ด้วยว่า ยังมีอีกกว่า 700 โรงเรียน ขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น สัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่ “ไฟฟ้า”


จากกรณีคลิปวิดิโอของยูทูปเบอร์ “พิมรี่พาย” ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์จนขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ โดยในคลิปพิมรี่พายนำเสนอว่าตนเดินทางไป บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อนำเงินส่วนตัวไปจัดทำแผงโซลาร์เซลล์และติดตั้งโทรทัศน์ในหมู่บ้าน จนผู้คนในโลกออนไลน์จำนวนมากต่างตกอกตกใจว่าในประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่อีกหรือ? หลายคนยังตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบและการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลและในท้องถิ่นว่าเหตุใดไม่เคยดำเนินการ รวมทั้งยังมีการเปรียบเทียบโครงการที่พิมรี่พายทำกับโครงการหลวง-โครงการในพระราชดำริ 4,000 โครงการด้วย


ต่อมาทาง กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ “ครูจุ๊ย” กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อธิบายหนึ่งในเหตุผลหลักและตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยยังมีโรงเรียนและหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นเพราะไฟฟ้าเข้าไม่ถึง-อยู่ในพื้นที่ห่างไกล-ไม่ได้รับการพัฒนา หรือเป็นเพราะเหตุใดกันแน่?

ครูจุ๊ยชี้ว่าเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับ “ที่ดิน” ต่างหาก คือสิ่งที่สร้างปัญหาทางการศึกษารวมถึงเป็นตัวกำหนดสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ประชาชนพึงได้รับด้วย

เนื่องจากตลอดเวลาที่ครูจุ๊ยได้เดินทางทำงาน เรียนรู้ปัญหา และพูดคุยกับผู้คนในแวดวงการศึกษามามากมาย พบว่าปัจจัยหนึ่งของการเข้าไม่ถึงการศึกษาคือปัญหาของตัวบทกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน

สมมติว่า มีเด็กธรรมดาคนหนึ่งเกิดในชุมชนทางภาคเหนือของประเทศไทย แล้วอยู่มาวันหนึ่งเมื่อปี 2507 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ก็เกิดขึ้นจากคนออกกฎหมายของส่วนกลาง ส่งผลให้มีป่าสงวนแห่งชาติเกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด 1,221 แห่ง

ส่วนพื้นที่อีกประเภทคือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีประชาชนอยู่ในพื้นที่นี้ 4,265 หมู่บ้าน และชุมชนของครอบครัวของเด็กคนนั้นก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเภทนี้

กลายเป็นว่าทั้งชุมชน ครอบครัว และไม่ว่าใครก็ตาม จะไม่ได้รับอนุญาตให้ “เข้าทำประโยชน์” ใด ๆ นั่นหมายรวมถึง “โรงเรียนและไฟฟ้า” บนพื้นที่เขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ในกำกับของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชด้วย

เด็กคนนั้นจึงไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่มีโรงเรียน ต้องเดินทางไปโรงเรียนที่ใกล้ที่สุด ซึ่งบางครั้งอยู่ไกลออกไปกว่าหลายสิบกิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไปกลับวันละหลายชั่วโมง บนทางลูกรังที่จะกลายสภาพเป็นโคลนตมทันทีเมื่อฝนตก ยิ่งเพิ่มความลำบากในการเดินทางเข้าไปอีก

เพราะเมื่อมีกฎหมายออกมา ก็ต้องมีการอนุญาตให้ “ใช้ประโยชน์” จากพื้นที่ได้ก่อน จึงจะทำได้ โรงเรียนของเด็กคนนั้นจึงต้องอยู่แบบตามมีตามเกิด ไฟที่ใช้จึงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะติดตั้งง่าย ไม่ต้องขอไฟฟ้าตามระเบียบ

กระบวนการขออนุญาตมีขั้นตอนระบบรัฐราชการเยอะ ใช้เวลานาน ซับซ้อน และยากลำบาก ทั้งการตัดถนน เดินสายไฟฟ้า มีขั้นตอนทางกฎหมายและนโยบายมากมาย ด้วยอคติที่มองว่าคนในพื้นที่เหล่าจ้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

แทนที่จะรับรองสิทธิการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีชุมชน วัฒนธรรมประเพณี และส่งเสริมให้พวกเขาช่วยปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติรอบ ๆ ชุมชน กลับกลายเป็นทำให้เขาขาดแคลนทั้งอำนาจในการจัดการทรัพยากรและลดทอนโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ

แม้ว่าในปี 2536 มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติผ่อนผันให้ส่วนราชการที่ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริและโครงการเพื่อความมั่นคง สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าที่ขอ
อนุญาตได้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าจะได้รับอนุญาตตามระเบียบและกฎหมายที่ว่าด้วยป่าไม้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงและเป็นเพียงการอนุญาตชั่วคราวในบางพื้นที่เท่านั้น

น่าเศร้าที่เรื่องราวของเด็กคนนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องสมมติ แต่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กในกว่า 700 โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศไทยที่ยังขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้ง ไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต!

จากการสำรวจของ สพฐ. เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 พบว่ามีโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในเขตป่าสงวน

14 โรงเรียน ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต
291 โรงเรียน ประสบปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ (ในจำนวนนี้มี 160 โรงเรียน ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้เลย)
และอีก 415 โรงเรียน ไม่มีไฟฟ้าใช้

และในโรงเรียนเหล่านี้ เด็กๆ ใช้ชีวิตกันแบบไหน?

ครูจุ๊ยยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตรอยต่อจังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐมที่เคยเดินทางไป แม้ว่าจะห่างจากเมืองหลวงเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่สิ่งที่พบคือ…

-โครงสร้างโรงเรียนทำกันเองในหมู่บ้าน
– ซื้อน้ำมันเพื่อปั่นไฟใช้
– สัญญาณโทรศัพท์ต้องเดินออกไปหาตามจุดที่มีเสาสัญญาณ
– ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ 3 ชั่วโมงเพื่อเข้าไปในตัวเมือง และถ้าเข้าช่วงฤดูฝนการเดินทางจะเลวร้ายกว่านี้มาก

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐต้องจัดการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ไม่ต้องรอรับบริจาค ไม่ต้องให้มีคนมาช่วยเหลือ ไม่ต้องใช้ชีวิตไปวัน ๆ แค่พอได้อาหารกินอิ่มท้องให้วันวันหนึ่งหมดไป เพราะนั่นไม่ใช่ชีวิตที่มีคุณภาพ

รัฐมีหน้าที่รับฟังประชาชนและแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

สภาผู้แทนราษฎรและหน่วยงานราชการต้องมีประสิทธิภาพกว่านี้ พื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ย่อมมีชุมชนที่อยู่กับป่าอยู่แล้ว ปัจจุบันแค่การสำรวจข้อมูลพื้นฐานก็ยังไม่เพียงพอ และจนปัจจุบันก็ยังไม่มีการสำรวจเชิงคุณภาพใดๆ เลย

ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 อย่างนี้ มีการประกาศให้เรียนที่บ้าน ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าคุณภาพการศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์-เรียนผ่านทางไกลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้ายังมีโรงเรียนที่มีสภาพเช่นนี้อยู่? ถ้ายังไม่แก้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ อย่างจริงจังมากกว่าแค่การอนุญาตและยกเว้นเป็นกรณี ๆ ไป?

กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถผลักดันให้เกิดการจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยตั้งเป้าหมายชัดเจน อาทิ ภายในปี 2565 จะมีโรงเรียนกี่โรงเรียนที่มีไฟฟ้าใช้ ได้สัญญาณอินเตอร์เน็ต


การช่วยเหลือในฐานะปัจเจกชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าให้ดีไปกว่านั้นปัจเจกชนไม่จำเป็นต้องทำเอง เพราะหน่วยงานองค์กรทางการของรัฐสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ตั้งแต่ต้น ทั้งทางด้านการจัดสรรงบประมาณและข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา

ถ้าไม่ผลักดัน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเสียงของพวกเขายังดังไม่พอ พวกเราที่พอจะมีกำลังต้องช่วยกันสะท้อนเสียงของพวกเขาให้ดังขึ้น

(ส่วนในภาพประกอบนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่เป็นภาพ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ตีนดอยสุเทพในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีการตัดถนน-เดินน้ำ-เดินไฟ ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ เพราะเป็นบ้านพักของเหล่าตุลาการที่ได้รับอนุญาตใช้ที่ดิน “ถูกต้องตามกฎหมาย” ทุกประการ)

อย่างไรก็ตามการโพสต์ข้อความดังกล่าวของคณะก้าวหน้า กำลังสวนทางกับคดีแม่ของธนาธร ที่รุกพื้นที่ป่าสวงน โดยกรมป่าไม้ได้เข้าปักป้ายยึดที่ดิน “แม่ธนาธร”รุกป่าสงวนแม่น้ำภาชี กว่า 350 ไร่ ซึ่งประเด็นนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ผู้นำชุมชนหมู่ 14 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ร่วมกันปักป้ายประกาศยึดที่ดินของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี แปลงที่ 1 จำนวน 350 ไร่

จากการตรวจสอบพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มีเจตนาครอบครองที่ดิน นส 2 โดยการซื้อเปลี่ยนมือจากบุคคลอื่นแบบผิดกฎหมาย จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ 350 ไร่ (ซึ่งแปลงที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสาร นส.2 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาซ้อนทับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีการร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้าน หมู่ 14 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่มีแผนงานจัดตั้งป่าชุมชนของหมู่บ้าน และมีตัวแทนของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ออกมาร่วมตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย มีการยอมรับการครอบครองและแสดงเจตนามอบให้หมู่บ้านจัดตั้งป่าชุมชนของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาครอบครอง นส.2 แบบผิดกฎหมายของนางสมพรฯ )

ดังนั้นการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้าที่อยากจะแก้ปัญหา เรื่องไฟฟ้า ที่อยากให้เข้าถึงอีกหลายโรงเรียนนั้น แล้วอ้างว่าที่แก้ไขไม่ได้ เพราะมาจากปัญหาที่ดิน ที่บอกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้ “เข้าทำประโยชน์” ใด ๆ นั่นหมายรวมถึง “โรงเรียนและไฟฟ้า” บนพื้นที่เขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ในกำกับของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชด้วย เช่นนั้นสิ่งที่แม่นายธนาธรกำลังทำ ก็ขัดแย้งกับแนวคิดของคณะ ที่อยากจะพัฒนาประเทศชาติ