เพ็นตากอนแฉ!!จีนเล็งวางฐานโลจิสติกส์ด้านการทหารในไทยและอีกหลายชาติ หวั่นพัฒนาแสนยานุภาพกระทบเส้นทางอินโด-แปซิฟิค ที่สหรัฐเคยครอบครอง

2411

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯมองจีนกำลังหาทางวางโครงข่ายโลจิสติกส์ทางทหาร ที่อาจครอบคลุมทั่วมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ ซึ่งระบุในรายงานประจำปีด้านแสนยานุภาพด้านการทหารของปักกิ่งที่นำเสนอต่อสภาคองเกรสเมื่อวันอังคาร(1ก.ย.2563) หวั่นกระทบพื้นที่อิทธิพลย่านอินโด-แปซิฟิค ที่สหรัฐครอบครอง ประกาศจะไม่ยอมเสียแม้เพียงนิ้วเดียว

ในรายงาน “พัฒนาการด้านการทหารและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน 2020” จำนวน 200 หน้า ระบุว่า “จีนจะพิจารณา พม่า, ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, ศรีลังกา รวมถึงประเทศอื่นๆในแอฟริกาและเอเชียกลาง ในฐานะที่ตั้งของฐานโลจิสติกส์ด้านการทหาร” รายงานบอกด้วยว่าจีนได้ทำการทาบทามในยังนามิเบีย, วานูอาตูและหมู่เกาะโซโลมอนไปแล้ว

แซค คูเปอร์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยอเมริกัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งมีสำนักงานในวอชิงตัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้ว่า “ถือเป็นครั้งแรกที่ข้อสังเกตลักษณะนี้ปรากฏในรายงานประจำปี รายงานใหม่นี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความปรารถนาของจีน ในความเคลื่อนไหวระดับโลก”

วอชิงตันเชื่อว่าความทะเยอทะยานของจีนต่อการขยายแสนยานุภาพด้านการทหารทั่วมหาสมุทรอินเดีย มีบ่อเกิดจากครั้งที่จีนเปิดฐานทัพถาวรในต่างแดนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในจิบูตี เมื่อปี 2017

จนถึงตอนนี้ที่มั่นในจิบูตี ยังเป็นเพียงฐานทัพในต่างแดนเพียงแห่งเดียวของจีน โดยที่ปักกิ่งระบุว่ามันเป็นเพียงฐานทัพสนับสนุน เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ทั้งในด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภารกิจคุ้มกัน

รายงานของเพนตากอนระบุว่าการปรากฎตัวของกองทัพจีนในจิบูตี จะส่งผลให้จีนมีศักยภาพในการสนับสนุนภารกิจตอบโต้ทางทหารต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ  ซึ่งอาจส่งผลกระทบการลงทุนของปักกิ่งและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ทั้งนี้มีพลเมืองจีนอยู่ในทวีปแอฟริการาวๆ 1 ล้านคนและตะวันออกกลางประมาณ 500,00 คน  สหรัฐฯยังเชื่อด้วยว่ากัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงลับๆกับปักกิ่ง สำหรับเปิดทางให้กองทัพจีนใช้ฐานทัพเรือแห่งหนึ่งของกัมพูชาเขาเป็นฐาน แม้ต่อหน้าสาธารณะนั้นทั้งสองประเทศจะปฏิเสธก็ตาม

การลงทุนของจีนในท่าเรือพลเรือนต่างๆทั่วมหาสมุทรอินเดีย ได้รับการขนานนามว่า “ยุทธศาสตร์เส้นรอยต่อสร้อยไข่มุก” มีจุดมุ่งหมายขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนให้ครอบคลุมท่าเรือสำคัญๆในมหาสมุทรอินเดีย ที่วันหนึ่งอาจถูกใช้งานโดยกองทัพเรือของจีน แม้ปักกิ่งไม่ยอมรับว่ายุทธศสตร์ดังกล่าวมีอยู่จริง แต่พวกนักเคราะห์มองว่ามันเป็นความพยายามแผ่อิทธิพลให้ครอบคลุมแนวยุทธศาสตร์ภาคพื้นดิน กระทบผลประโยชน์และอิทธิพลของอินเดีย ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันที่ชายแดนระหว่างจีน-อินเดียจนตึงเครียดจนถึงปัจจุบัน

เพนตากอนระบุในรายงานว่าพัฒนาการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจีนมีความพยายามโดยตรงมากขึ้นในการวางรากฐานด้านการทหารในต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่าในรายงานเดียวกัน เพนตากอนคาดหมายว่าจีนจะมีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงทศวรรษหน้า จากระดับต่ำราวๆ 200 หัวรบในปัจจุบัน และกำลังใกล้มีขีดความสามารถในการโจมตีทางนิวเคลียร์ทั้งทางบก อากาศและทะเล แสนยานุภาพที่เรียกว่า “ไตรแอด(triad)”

สหรัฐ-จีนไม่ใช่เพิ่งมาแข่งขัน ยิ่งนานยิ่งขัดแย้งตึงเครียด

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯคุกรุ่นมานานตั้งแต่ปีกลาย และแขม็งเกลียวหนักขึ้นเมื่อเกิดการระบาดไวรัสสายพันธ์ใหม่ โควิด-19 โดยวอชิงตันมีปัญหากับจีนในทุกด้าน-การแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีนและการรับมือกับการแพร่ระบาดของสหรัฐเอง -การควบคุมฮ่องกงภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ -สงครามการค้า -สงครามเทคฯ ทั้งนี้ท่าทีของอเมริกามีความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ หวังได้รับชัยชนะกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยในศึกเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

-กรณีไต้หวัน สหรัฐขายอาวุธให้ไต้หวันขนานใหญ่ ล่าสุดมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนได้ยกระดับความเคลื่อนไหวด้านการทหารรอบๆเกาะที่ทางจีนอ้างว่าเป็นดินแดนอำนาจอธิปไตยของจีน โดยส่งฝูงบินรบและเรือรบทำการซ้อมรบใกล้ๆไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันแสดงท่าทีแข็งกร้าวอย่างเปิดเผยถึงความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ

โลจิสติกส์ทางการทหารสำคัญอย่างไร

โลจิสติกส์ด้านการทหาร คือเส้นทางยุทธศาสตร์ในการลำเลียงขนส่งเสบียง และอาวุธยุทโธปกรณ์ยามเกิดสงครามเชิงพื้นที่ หมายถึงทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งต้องประสานกันในการดำเนินการรบ โลจิสติกส์เริ่มเป็นที่รู้จักในครั้งแรกสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในความสามารถการกระจายและจัดเก็บยุทธภัณฑ์และกำลังพลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นกุญแจสำคัญในชัยชนะของกองทัพ ใครก็ตามที่ยึดภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวยภารกิจดังกล่าวทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศได้สำเร็จ เท่ากับชนะไปเกินครึ่งแล้ว

ประเทศไทยเป็นจุดภูมิยุทธศาสตร์ที่สะดวกทางน้ำทั้งฝั่งทะเลอินเดีย และทะเลจีนใต้ ทางบกและอากาศเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเดินทางไปสะดวกทุกทิศทาง จึงเป็นที่หมายปองของมหาอำนาจทุกฝ่าย

สหรัฐประกาศไม่ยอมเสียพื้นที่-อินโดแปซิฟิคแม้เพียงนิ้วเดียว

นายมาร์ค เอสเปอร์ รมว.กลาโหมสหรัฐ กล่าวในระหว่างลงพื้นที่เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2563 ว่าภูมิภาคอินโดย-แปซิฟิค ถือเป็น “เขตความรับผิดชอบ” ของรัฐบาลวอชิงตัน และจะไม่มีวันเป็นฝ่ายสูญเสีย “แม้เพียงนิ้วเดียว”และว่ารัฐบาลปักกิ่งทำผิดสัญญาเดินหน้ายกระดับแสนยานุภาพทางทหารในพื้นที่พิพาททั้งทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ และยอมรับว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิค เป็นภูมิศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็น”ศูนย์กลางของสนามแข่งขีนอำนาจ” ระหว่าง มหาอำนาจ สหรัฐ-จีน-รัสเซีย และยังกล่าวอีกว่า สหรัฐมองว่า จีนแผ่ขยายอิทธิพลไปครอบคลุมทั่วโลกแล้ว ทำให้สหรัฐต้องยกบทบาทในระดับที่เท่าเที่ยมกัน

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯคว่ำบาตรรัฐวิสาหกิจของจีนซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างในทะเลจีนใต้ทำจีนตอบโต้เดือดว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อมารยาททางการทูตอย่างที่สุด และจีนจะปกป้องอธิปไตยของประเทศในทุกๆพื้นที่อย่างถึงที่สุด