EEC แม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนตปท.!! ยอดโตทะลุเป้า 1.7 ล้านล้านบาทได้ใน 5 ปี ขณะรัฐทุ่มงบฯโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลอย่างจริงจัง

1631

สกพอ.เผยยอดขอลงทุนต่างประเทศ(FDI) ในพื้นที่ EEC:ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นไปตามเป้าหมาย 5 ปี 1.7 ล้านล้านบาท คาดปี 64 โควิดคลี่คลาย ทำมูลค่าลงทุนกระเตื้อง 7-8 แสนล้านบาท พร้อมด้วยภาครัฐลุยเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และส่งเสริมดิจิทัลครบวงจร ทำให้การลงทุนคึกคักต่อเนื่อง สอดคล้องเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของรัฐบาล

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า แม้ว่าจะเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ สกพอ. ยังคงมั่นใจในยอดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี (2560-2565) โดยที่ผ่านมามียอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วกว่า 9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของเป้าหมาย

ส่วนในปีนี้ คาดว่ายอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีของภาคเอกชนอาจจะมีน้อย เพราะติดปัญหาโควิด-19 ทำให้นักลงทุนเดินทางมาเจรจาธุรกิจ หรือลงดูพื้นที่ไม่ได้ ต้องชะลอโครงการออกไป จะมีเพียงแต่โครงการลงทุนภาครัฐที่ยังคง เดินหน้าตามแผนที่วางไว้ แต่ในปี 2564 หลังจากที่โควิด-19 คลี่คลายก็มั่นใจว่าโครงการลงทุนต่างๆ จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และยังมีโครงการประมูลโครงสร้างพื้นฐานที่เซ็นสัญญาอยู่อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) และโครงการลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะมีมูลค่า 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งจะตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

แม้ว่าโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่เดิมมีแผนที่การบินไทยจะร่วมลงทุนกับแอร์บัส แต่หลังจากที่ แอร์บัสถอนออกไป ก็ยังมีอีกหลายประเทศสนใจ เช่น จากฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งในปี 2564 จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม การที่จะดึงดูดการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมายที่จะต้องใช้บุคลากกรที่มีทักษะชั้นสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ สกพอ.จะต้องสร้างบุคลากรทักษะชั้นสูงโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีวศึกษาให้มีเพียงพอเข้ามารองรับอุตสาหกรรม และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือ และรองรับการลงทุนในธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับ 5จี โดยคาดว่าจะมี ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 475,000 คน ซึ่ง สกพอ.จะร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องผลิตบุคลากรผ่านอีอีซี โมเดล ได้ประมาณ 10% หรือประมาณ 4-5 หมื่นคน ที่เหลืออีก 90% จะมาจากสถาบันการศึกษาในและนอก อีอีซี

สำหรับการขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เป้าหมายเดือน ม.ค.-มิ.ย.2563 มีการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ดังนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมีจำนวน 225 โครงการ เงินลงทุน 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็นชลบุรี จำนวน 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท, ระยอง จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท, ฉะเชิงเทรา จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท

ปี 2562 จำนวน 506 โครงการ เงินลงทุน 444,880 ล้านบาท แบ่งเป็นชลบุรี เงินลงทุน 119,479 ล้านบาท ระยอง  เงินลงทุน 133,533 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา เงินลงทุน 29,550 ล้านบาท-โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 162,318 ล้านบาท

ปี 2561 จำนวน 422 โครงการ เงินลงทุน 683,910 ล้านบาท แบ่งเป็น ฉะเชิงเทรา เงินลงทุน 48,300 ล้านบาท ชลบุรี เงินลงทุน 576,910 ล้านบาท และระยอง เงินลงทุน 58,700 ล้านบาท

ปี 2560 จำนวน 388 โครงการ เงินลงทุน 296,890 ล้านบาท แบ่งเป็นฉะเชิงเทรา  เงินลงทุน 39,239 ล้านบาท ชลบุรี เงินลงทุน 67,876 ล้านบาท และระยอง เงินลงทุน 189,775 ล้านบาท รวมมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2560 จนถึงเดือน มิ.ย.2563 มีทั้งหมด 1,541 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,511,160 ล้านบาท